ผ่ากลยุทธ์ ‘ไมโครเวนดิ้งเทค’ ปั้นธุรกิจเก็บขยะ เพื่อสังคมสู่ความสำเร็จ

09 มี.ค. 2566 | 11:08 น.
540

 ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) จะประสบความสำเร็จ เหล่าสตาร์ทอัพที่ทำงานด้านนี้รู้ดี ว่าต้องใช้้ความอดทนและระยะเวลาพอสมควร เช่นเดียวกับ “สกล สัจเดว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมโครเวนดิ้งเทค จำกัด

"สกล" บอกเลยว่า ทำธุรกิจต้องมีกระแสเงินสด (cash flow) ด้วย ทำ waste อย่างเดียวไม่มีตังค์นะ นี่คือหลักการหนึ่งที่ทำให้การเดินหน้าธุรกิจ SE ของ “สกล” คือส่วนหนึ่งของธุรกิจที่เขาสร้างขึ้น จากการต่อยอดธุรกิจหลักที่ทำอยู่ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาขยะให้กับสังคมด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ ที่เขาเริ่มพัฒนาและสร้างนวัตกรรมตู้เติมน้ำมัน พร้อมจดอนุสิทธิบัตรตั้งแต่กลางปี 2551 ในนามบริษัท สัจเทพเทรดดิ้ง จำกัด 
 

“สกล” ขยายงานของเขาโดยร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น พัฒนานวัตกรรมตู้น้ำมันอัจฉริยะ และนำนวัตกรรมนี้สู่ชุมชน ในนาม “ไมโคร ปั้ม” ภายใต้ชื่อบริษัทไมโครออยล์แอนด์รีเทล (Micro OR) 
 

ตู้นี้ไม่เพียงแค่เติมน้ำมัน แต่ยังสามารถอำนวยความสะดวกคนในชุมชนได้ครอบคลุมความต้องการในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเติมน้ำมันที่มีคุณภาพ การเติมเงินชำระบิล และบริการอีกมากมายได้ที่ตู้นี้ตลอด 24 ชม.และยังต่อยอดสู่ตู้ “ไมโคร รีฟิล” เติมน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น จนล่าสุดคือ ตู้ RVM  (Reverse Vending Machine) หรือเครื่องรับซื้อบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ทำงานร่วมกับบริษัท ปูนทองรีไซเคิล ที่สุรินทร์ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะขวดพลาสติก

 

“ไมโครรีฟิลด์ เป็น OEM หรือรับจ้างผลิต เราไม่ต้องการเอาพลาสติกมาขายที่ตู้ของเรา และต้องมี อย. เป้าหมายคือ การลดใช้ขวดพลาสติก คนสามารถซื้อได้ตามปริมาณที่ต้องการ”

แนวคิดของ “สกล” คือการทำธุรกิจที่ช่วยเหลือชุมชน การทำตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ก็ช่วยให้คนในชุมชนประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุนการเดินทางเข้าเมืองเพื่อเติมน้ำมัน ขณะที่ตู้ไมโคร รีฟิล ก็ช่วยเรื่องการลดใช้บรรจุภัณฑ์ ลดใช้พลาสติก ขณะที่ตู้ RVM คือตู้รับซื้อขวดพลาสติก เพื่อนำมาคัดแยกขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง แล้วแยกตั้งแต่ตัวฉลาก บีบอัดได้ ผ่าขวดได้ บอกยี่ห้อได้ ซี่งโปรเจ็กต์นี้ เขาได้รับการซัพพอร์ตทุนเบื้องต้นจาก เดอะ อินคิวเบชัน เน็ตเวิร์ค องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสิงคโปร์ ผ่านโครงการ SUP Challenge 


“ความยากไม่ใช่การเก็บขยะ แต่ที่ยากคือ การสอนให้เขามาใช้เครื่องมือของเรา และสอนการมีวินัย เราต้องอัพเดทเรื่องขวดอยู่เรื่อยๆ ทำอย่างไรให้ โรงงานรีไซเคิลเอาราคาเราไปใช้ หากเราได้ราคาดี ชุมชนก็จะได้ราคาดีจากเรา เครื่อง RVM แสวงหากำไรยาก เราต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ”


นอกจากนี้ ”สกล” เลือกวิธีสร้างความสำเร็จของงานชิ้นนี้ด้วยความสนุก หากนำขวดพลาสติกมาขายที่ตู้ RVM ก็จะได้คะแนนสะสม ไปแลกรับบริการจากตู้หยอดเหรียญและธุรกิจที่เป็นอีโคซิสเต็มของบริษัท เช่น ร้านซักผ้า ตู้กดกาแฟ ตู้เติมน้ำมัน ตู้ไมโครรีฟิล 
 

นอกจากนี้ ยังเตรียมจัด “คาร์บอนเครดิตรัน” จัดวิ่งเก็บขยะในชุมชนมาใส่ตู้ ซึ่งจะเกิดประมาณเดือนเมษายน 2566 ที่ อบต. ห้วยพระ จังหวัดนครปฐม

 

“เราไม่อยากตีภาพใหญ่ แต่จะทำแบบฝังรากให้คนเห็น แล้วค่อยๆ ขยายออกไป ...ตอนนี้กำลังติดต่อโรงงานรีไซเคิล เอาพลาสติกมาทำเส้นใย มาผลิตเป็นเสื้อผ้า เพื่อให้ชาวบ้านเห็นภาพ”
 

“สกล” บอกว่า จะผลิตเครื่อง RVM ประมาณ 10 เครื่อง ไปไว้ตามงานวิ่ง เพราะเขาใช้น้ำเยอะ เขารักสุขภาพ ก็ต้องรักสิ่งแวดล้อมด้วย เฟสที่ 2 จะไปตั้งตามสวนสาธารณะ อยากให้คนต่างจังหวัดใช้นวัตกรรมดีๆ ถ้าคนพวกนี้เข้าใจ รุ่นต่อๆ ไปจะเข้าใจหมด
 

การที่จะทำให้โปรเจคเครื่อง RVM สำเร็จได้ “สกล” บอกว่า ตู้ RVM ต้องไม่น่าเบื่อ และต้องทำงานร่วมกันทั้งองคาพยพ และต้องใช้เวลา  3-5 ปี จึงจะเห็นผล 
 

ดูจากปริมาณขยะในประเทศไทย ปี 2564 มีรวมทั้งหมดกว่า 24.98 ล้านตัน 12% เป็นขยะพลาสติก 2.76 ล้านตัน ซึ่งแต่ละปีถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.5 ล้านตัน เพราะส่วนใหญ่ที่เหลือนั้นเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว…จากจำนวนที่เห็น แน่นอนว่า “สกล” ยังต้องใช้เวลาอีกมากและความอดทนสูง จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,868 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2566