"ซันเทคฯ" รุก "BCG Model" เปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าหลักล้าน

03 มี.ค. 2566 | 20:43 น.
อัปเดตล่าสุด :03 มี.ค. 2566 | 20:43 น.

กระแสความรักษ์โลกเป็นแนวโน้มที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดความตกลงร่วมมือเพื่อลดภาวะเรือนกระจก และการทำให้มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

ดังนั้น โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดีประเด็นปัญหาที่เห็นได้ใกล้ตัวในประเทศไทยก็คือ ขยะ โดยเฉพาะขยะที่เกิดขึ้นจากรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุ หรือความขัดข้องจากเครื่องยนต์กลไกลต่างๆ ซ่อมแล้วไม่คุ้มค่า ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้น แต่รัฐบาลเองก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยปัจจุบันจากข้อมูลพบว่า มีซากรถอยู่ประมาณ 5 ล้านคันจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น 

-รู้จักซันเทค รีไซเคิล แอนด์  ดีคาร์บอน
    
ความจริงแล้วในประเทศมี “บริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์  ดีคาร์บอน จำกัด” ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการขยะเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมาได้มีการนำเข้าซากรถยนต์จากต่างประเทศเข้ามา เพื่อนำมาคัดแยก และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของขยะต่อไป

“ทวันทว์ บุณยะวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์  ดีคาร์บอน จำกัด เล่าถึงวิธีการนำเข้า และกำจัดขยะที่เป็นซากรถยนต์จากต่างประเทศให้ฟังว่า ซันเทคจะนำเข้าซากรถยนต์มาจากประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก เพื่อนำมาคัดแยกส่วนประกอบของรถออกจากกัน ด้วยเครื่องมือที่ใหญ่และทันที่สมัย 
 

โดยลำดับแรกจะทำการแยกชากรถยนต์ที่ถูกบีบอัดนำเข้ามาด้วยวิธีการฉีกออกจากกัน หลังจากนั้นจะมีเครื่องมือขนาดเล็กที่สามารถคัดแยกเหล็กซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของรถประมาณ 70% ออกมา ส่วนที่เหลืออีก 30% จะเป็น ทองแดง อะลูมิเนียม พลาสติก โฟม ยาง เป็นต้น

ทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์  ดีคาร์บอน จำกัด “หากจะมองให้เห็นภาพก็จะเปรียบชากรถเป็นเสมือนหมูก้อน โดยในลำดับแรกก็จะทำการสับแบบหยาบ เพื่อทำให้เนื้อหมูแยกออกจากกัน หลังจากนั้นก็จะเป็นการสับแบบละเอียด เพื่อแยกสิ่งที่เป็นเหล็ก และไม่ใช่เหล็กออกจากกัน เพื่อนำชิ้นส่วนต่างๆไปส่งขายต่อ หรือนำไปเพิ่มมูลค่า”

-กำจัดขยะครบวงจร

สำหรับ "ขยะ" ที่คัดแยกออกมาดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปเพิ่มมูลค่า โดยหากเป็นเหล็กในช่วงแรก ซันเทค จะจำหนน่ายต่อให้กับบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ มิลล์คอน (MILLCON) เพื่อนำไปหลอมใหม่ผลิตเหล็ก เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีโรงงานถลุงเหล็ก แต่ในระยะหลังได้มีการส่งเหล็กไปยังบริษัทอื่นที่ต้องการด้วย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ 

ขณะที่ส่วนอื่นเราสามารถนำไปผสมกับขยะอุตสาหกรรมอื่นได้ที่มีค่าความร้อนต่ำเพื่อให้ค่าความร้อนสูงไม่เกิน 3,000 องศาเซียลเซียส ซึ่งเป็นความร้อนในระดับที่ไม่ทำให้เตาเผาระเบิด สำหรับผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เพื่อลดปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดบริษัทได้เข้าร่วมเสนอชื่อเพื่อพิจารณาเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff ( FiT ) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำไปเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอน โดยเหลือเพียงขั้นตอนการประกาศรายชื่อขั้นสุดท้ายในวันที่ 1 มีนาคม 2566  

“หากโรงไฟฟ้าของบริษัทผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ก็จะทำให้มีกระบวนการกำจัดขยะแบบครบวงจร โดยบริษัทมองเรื่อง Circular economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้น เรียกว่าต้นทางเรานำเข้าเหล็ก หลังจากนั้นก็ขายเหล็กให้กับโรงเหล็ก ส่วนที่เหลือก็นำไปรีไซเคิล เหลือจากนั้นก็นำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อขายไฟให้กับการไฟฟ้า”

-แก้ปัญหาซากรถเก่าในไทย

ทวันทว์ บอกอีกว่า มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเกี่ยวกับกรณีของซากรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ และถูกปล่อยทิ้งไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยต้องการใช้เทคโนโลยีที่บริษัทมีเข้าไปช่วยในการสนับสนุนการกำจัด ซึ่งขณะนี้ก็รอเพียงความชัดเจนของนโยบายจากภาครัฐเท่านั้น โดยล่าสุดรัฐบาลเองก็เริ่มผลักดัน และเริ่มทำการศึกษาเรื่องการกำจักซากรถดังกล่าว  ซึ่งหากประเทศไทยจะต้องเข้าสู่เส้นทางของการรักษ์โลก และการก้าวไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) จะต้องมีกระบวนการนำรถรถเก่าออกจากระบบแบบเป็นรูปธรรม และหากกำจัดด้วยวิธีการตามรูปแบบของ BCG ด้วยก็จะยิ่งดีมากขึ้น  

ซันเทคฯ รุก BCG โมเดลเปลี่ยนขยะเพิ่มมูลค่าหลักล้าน อย่างไรก็ดี ซันเทคฯ ยังมองไปถึงเรื่องของแบตเตอรี่ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มาพร้อมกับรถอีวี และเปรียบเสมือนหัวใจของรถยนต์  โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนของการศึกษา ว่าแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพสามารถนำไปใช้ในธุรกิจอื่นได้หรือไม่ ก่อนที่จะทำลาย เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าแบตเตอรรี่เสื่อมไม่ได้หมายความว่าพัง แต่ต้องการทำเรื่องรถเก่าในประเทศไทยให้ได้ก่อน นอกจากนี้ยังมองไปถึงเรื่องของคาร์บอนเครดิตด้วย

-จ่อเข้าระดมทุนผ่าน ตลท.

ทวันทว์ ยังบอกถึงแผนของ ซันเทค ในระยะต่อไปด้วยว่า เตรียมตัวเข้าระดมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยปัจจุบันอยู่ในคิวที่จะเปิดเทรดอย่างเป็นทางการภายในปีนี้ ซึ่งแนวโน้มของธุรกิจดังกล่าวจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ทั้งโลกจะต้องปฏิบัติตาม เพียงแต่ตลาดในเมืองไทยยังเพิ่มเริ่มต้น อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดขยายไปได้หลายทาง

“ตลาดดังกล่าวเรียกว่ายังสด มีผู้เล่นน้อยราย และยังไม่มีผู้เล่นรายใดที่ทำได้ครบทั้งหมด หรือครอบคลุมทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของบริษัทที่จะเติบโตได้อีกมาก โดยซันเทคฯมีแนวทางที่ขัดเจน เราไม่ได้เป็นคนขายเหล็ก แต่ต้องบอกว่าเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรมากกว่า เราจะทำธุรกิจที่มีกำไร และรักษ์โลกด้วยแบบครบวงจร เพราะการทำลายอย่างเดียวไม่ใช่ว่าจบ แต่จะต้องให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้วย”

สำหรับรายได้ของบริษัทปี 63 มีกำไรประมาณ 21 ล้านบาท ส่วนปี 64 มีกำไร 28 ล้านบาท ขณะที่ปี 65 ไตรมาส 3 มีกำไรอยู่ประมาณ 74 ล้านบาท