นายกฯ ประกาศไทยไม่ใช่ "ถังขยะโลก" หลังแบนนำเข้าเศษพลาสติก

22 ก.พ. 2566 | 11:09 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2566 | 11:24 น.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ประเทศไทยไม่ใช่ "ถังขยะโลก" อีกต่อไป หลังมติครม. ล่าสุด ไฟเขียวแบนนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ในปี 2568

ภายหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและราคาเศษพลาสติกในประเทศ และเพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น โดประกาศ ให้ปี 2568 ประเทศไทยต้องปลอดการนำเข้า “เศษพลาสติก” จากต่างประเทศ

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กสรุปได้ว่า เราคงได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) มีผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อทุกคนบนโลก และตามที่ได้ให้นโยบายที่มุ่งเน้นการดำเนินงานตามแนวทาง BCG และขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ในทุกๆ มิติที่มุ่งแนวทางการพัฒนาประเทศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐบาลประกาศ ปี 2568 ประเทศไทยแบนการนำเข้า “เศษพลาสติก”

 

ภาพประกอบข่าว การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เลิกนำเข้าเศษพลาสติก

ไทยจะไม่ถูกมองว่าเป็น "ถังขยะโลก"

ตอนนี้มีเรื่องที่น่ายินดี แจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยจะไม่ถูกมองว่าเป็น "ถังขยะโลก" จากการนำเข้าขยะพลาสติกจากประเทศอื่นอีกต่อไป โดยในช่วง 2 ปีนับจากนี้ จนถึงสิ้นปี 2567 
ทั้งนี้ รัฐบาลจะคุมเข้ม และห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ แล้วหันมาส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแทน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทย ที่เป็นปัญหามานาน

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลได้ใช้ความพยายามแก้ปัญหานี้ มาอย่างต่อเนื่อง โดย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร และเป็นขั้นเป็นตอน โดยยึดหลักความจำเป็น - เหมาะสม - คุ้มค่า ควบคู่กับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสำคัญ 

 

ภาพประกอบข่าว การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เลิกนำเข้าเศษพลาสติก

สำหรับการดำเนินงานได้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 : ช่วงปี 2562-2563 เป็นการปรับลดการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ สำหรับป้อนเป็นวัตถุดิบโรงงานอุตสาหกรรมใน "พื้นที่ทั่วไป" เพื่อการผลิต-แปรรูป แล้วส่งออกเท่านั้น ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนถึงปัจจุบัน การนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เข้ามาในพื้นที่ทั่วไปนี้เป็น "ศูนย์" และมุ่งส่งเสริมให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศแทน

ระยะที่ 2 : ช่วงปี 2566-2567 เป็นการต่อยอด การจำกัดการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับ 14  โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตมาก่อนแล้ว ใน "พื้นที่เขตปลอดอากร" เพื่อการผลิตแล้วส่งออกเท่านั้น และเมื่อถึงสิ้นปี 2567 ก็จะไม่มีการนำเข้าขยะพลาสติกจากนอกประเทศอีกต่อไป 

สั่งทุกหน่วยงานร่วมขับเคลื่อน

เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลในส่วนที่รับผิดชอบอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • การกวดขัด-ตรวจสอบการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกผิดกฎหมาย 
  • การควบคุมปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศ ให้สมดุลกับการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ 
  • การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนากระบวนการรีไซเคิล 
  • การส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายร้านรับซื้อของเก่า-ซาเล้งให้เข้าสู่วงจรการใช้ประโยชน์ขยะรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ
  • การกำกับดูแลกระบวนการผลิต-แปรรูปขยะพลาสติกเพื่อการส่งออก ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและประชาชน

 

ภาพประกอบข่าว การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เลิกนำเข้าเศษพลาสติก

 

สาระสำคัญคุมการนำเข้าเศษพลาสติก

ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดห้ามนำเข้าเศษพลาสติกตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย ดังนี้

1. เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร

2. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร (ในช่วงปี 2566-2567) โดยจะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตันต่อปี 

สำหรับปีที่ 1 (2566) ให้นำเข้าปริมาณ 100% ของความสามารถในการผลิตจริง, ปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าปริมาณไม่เกิน 50% ของความสามารถในการผลิตจริงโดยการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ เช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เป็นต้น

3. การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป (ในช่วงปี 2566-2567) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอโดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศ, นำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต, นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น (ไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก), สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด