การจัดการขยะพลาสติก หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลตั้งเป้าหมายก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืนด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการ "ขยะพลาสติก" ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการต่อไป
สาระสำคัญการจัดการขยะพลาสติก
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุรายละเอียดว่า สาระสำคัญของ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก จะเป็นทิศทางการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการและขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติก
รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาการบริหารจัดการพลาสติกของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทางด้วย
4 ขั้นตอนจัดการขยะพลาสติก
กรอบแนวคิดการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่ และการบริหารจัดการขยะตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ
1.การจัดการ ณ ต้นทาง : ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องร่วมรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนตลอดวัฏจักรชีวิต
2.การจัดการ ณ กลางทาง : ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ซ้ำ และเรียกคืนกลับไปรีไซเคิล เพื่อให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด
3.การจัดการ ณ ปลายทาง : มีระบบคัดแยกและนำกลับคืนวัสดุรีไซเคิล ระบบกำจัดแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ก่อนการฝังกลบขั้นสุดท้าย เช่น การเผาเพื่อผลิตพลังงาน และการหมักปุ๋ย เพื่อให้เหลือขยะที่ต้องฝังกลบให้น้อยที่สุด
4.การพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการขยะพลาสติก : มีรูปแบบความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต มาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติก (ภาคบังคับ) หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติการออกแบบผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานและระบบการรับรองวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล
คลอด 4 มาตรการหลัก
การจัดการขยะพลาสติกตามร่างแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 ในครั้งนี้ กำหนดให้มี 4 มาตรการหลัก ประกอบด้วย
1.การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการควบคุม ป้องกัน เพื่อลดการเกิดขยะพลาสติก ตั้งแต่การออกแบบการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนากฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อใช้บริหารจัดการผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เช่น การยกร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ และร่างอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
2.การลดขยะพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อเนื่อง และขยายผลให้ผู้ประกอบการและประชาชนสนับสนุนการลดขยะพลาสติก รวมทั้งรณรงค์สื่อสารต่อสาธารณะภายใต้แนวทาง “งดการให้-ปฏิเสธการรับ ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว”
3.การจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค โดยให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะจากบ้านเรือน อาคาร สำนักงานที่สอดคล้องกับวิธีการกาจัดที่ปลายทาง สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องนำกลับเข้าระบบรีไซเคิล และต้องทิ้งเพื่อนำไปกำจัด
4.การจัดการขยะพลาสติกในทะเล โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดขยะพลาสติกในทะเล เช่น การคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดและควบคุมกรณีมีการขนส่งขยะมากำจัดบนฝั่ง วางระบบคัดแยก รวบรวม และการจัดการขยะพลาสติกและขยะประเภทอื่น
กำหนดเป้าหมายจัดการขยะพลาสติก
ตามแผนปฏิบัติการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 มีเป้าหมายให้ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมาย เช่น ขวดพลาสติก ฝาขวด และถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลง 100% และผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล 100% รวมถึงลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล 50%
ทั้งหมดจะต้องมีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 ประเภทตามที่กำหนดในแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง