ครม.ล้ม “บ้านคนไทยประชารัฐ” 7 จังหวัด ยกพื้นที่ทำโครงการอื่นแทน

07 ก.พ. 2566 | 16:17 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2566 | 17:07 น.

ครม.ล้ม “บ้านคนไทยประชารัฐ” บนที่ดินราชพัสดุ ในพื้นที่ 7 จังหวัด หลังทำเสร็จแค่จังหวัดเดียวจากเป้าหมาย 8 จังหวัด ที่เหลือไปทำโครงการอื่นตามนโยบายรัฐบาลแทน

โครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” บนที่ดินราชพัสดุ หนึ่งในโครงการของรัฐบาล เพื่อดูแลผู้ที่มีรายได้น้อย ทั้งผู้ที่ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อเดือน รวมถึงประชาชนทั่วไปได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง 

โดยเป็นโครงการบ้านแฝด/บ้านแถว/อาคารชุดพักอาศัย ที่มีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตร.ม. ในระดับราคา 350,000-700,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการการผ่อนชำระสู่การเช่าระยะยาว กรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยและผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการ

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ได้รับทราบคืบหน้าโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 พื้นที่ บนที่ดินราชพัสดุ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากทั้งหมดที่มีเป้าหมายดำเนินการ 8 พื้นที่ ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ลำปาง นครพนม ประจวบคีรีขันธ์ และอุดรธานี รวมเนื้อที่ 317 ไร่ 2 งาน 49.9 ตารางวา จำนวน 2,757 หน่วย

 

การแถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

สร้างเสร็จแค่จังหวัดเดียว จาก 8 จังหวัด

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการดำเนินโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” ล่าสุดได้ดำเนินการก่อสร้างเรียบร้อยแล้วใน 1 พื้นที่ คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนพื้นที่ใน 7 จังหวัดที่เหลือที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้

ดังนั้นในการประชุม ครม. วันนี้จึงมีมติอนุมัติให้กรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุที่รองรับการดำเนินโครงการดังกล่าวใน 7 จังหวัดเดินหน้ารองรับการดำเนินโครงการสำคัญอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล 

หรือนำไปบริหารจัดการหรือพัฒนาจัดหาประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐต่อไป เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและรัฐมีการพัฒนาที่มั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน

 

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เปิดเหตุผลล้มโครงการ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล บอกกับฐานเศรษฐกิจว่า เหตุผลของการต้องล้มโครงการใน 7 จังหวัด เนื่องจาก ใน 4 จังหวัดแรก คือ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ และขอนแก่น ผู้ได้รับสิทธิก่อสร้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่มีความพร้อมในทุกบริบทที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อการก่อสร้างและบริหารโครงการ ตามที่กรมธนารักษ์ กำหนดได้

ส่วนอีก 3 พื้นที่ คือ อุดรธานี ลำปาง และนครพนม ที่ผ่านมามีการเปิดประมูลไปแล้ว 1-2 ครั้ง แต่ไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าร่วมพัฒนาที่ราชพัสดุ

คงอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน 1 ปี

นอกจากมติให้นำพื้นที่ 7 จังหวัดไปทำโครงการอื่นแล้ว ครม. ยัง มีมติอนุมัติให้กำหนดระยะเวลาการให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน สำหรับธุรกรรมนโยบายภาครัฐ โครงการจากเดิม ที่ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 โดยขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2566 – 2 มกราคม 2567 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยคงเดิม โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปฏิบัติ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และมติ ครม. อย่างเคร่งครัด

สำหรับรายละเอียดมาตรการสินเชื่อ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ประกอบด้วย

1. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) : กำหนดอัตราดอกเบี้ย คือ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1-4 อยู่ที่ 2.75% ต่อปี หลังจากนั้น กรณีรายย่อย MRR - 0.75% ต่อปี หรือกรณีสวัสดิการหักเงินเดือน MRR - ร้อยละ 1 ต่อปี มีระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปีโดยมีการผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้/ราย/เดือน (DSR) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (DIR) ตามที่ธนาคารกำหนด

2. สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) : กำหนดอัตราดอกเบี้ย คือ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1-3 อยู่ที่ 3% ต่อปี หลังจากนั้น MLR - ไม่เกิน 1% ต่อปี ระยะการกู้ ไม่เกิน 5 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ และหรือ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัดที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ