กฟผ.รุกโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด 9 เขื่อนสร้างกำลังผลิต 2,725 เมกฯ

13 ก.พ. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.พ. 2566 | 13:38 น.

กฟผ.รุกโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด 9 เขื่อนสร้างกำลังผลิต 2,725 เมกะวัตต์ เผยคิวต่อไปที่เขื่อนอุบลรัตน์ เดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริง

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมและก่อสร้างโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เปิดผยว่า กฟผ. เตรียมดำเนินการต่อยอดพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในพื้นที่เขื่อนของ กฟผ. ทั้ง 9 เขื่อนทั่วประเทศ รวม 16 โครงการอย่างต่อเนื่อง รวมกำลังผลิตทั้งหมด 2,725 เมกะวัตต์ 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเดินหน้าสู่สังคมไร้คาร์บอนอย่างแท้จริง โดยโครงการถัดไปคือโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ปลายปี 2566 
 

โดยจะต่อยอดเพิ่มเสถียรภาพของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการติดตั้งแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System - BESS) เข้าไปในระบบผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด ซึ่งจะส่งผลให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น

กฟผ.รุกโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด 9 เขื่อนสร้างกำลังผลิต 2,725 เมกะวัตต์ นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า กฟผ. ได้นำโซลาร์เซลล์ลอยน้ำมาผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร เพื่อลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความมั่นคงมากขึ้น พร้อมกับขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ตามนโยบายรัฐบาล 

นอกจากนั้น กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน โดยผลักดันโรงไฟฟ้าให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 


 

และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดในภาพรวมอีกด้วย หลังจากเปิดให้เยี่ยมชมโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมแล้วกว่า 420,000 ราย ช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ รวมมากกว่า 8.3 ล้านบาท

"โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 47,000 ตันต่อปี และยังประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบ"