zero-carbon
943

เช็คขั้นตอนการขายคืนไฟให้รัฐจากการติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" ดูเลยที่นี่

    เช็คขั้นตอนการขายคืนไฟให้รัฐจากการติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" ดูเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว

"โซลาร์เซลล์" นอกจากจะติดตั้งเพื่อประหยัดต้นทุนค่าไฟที่แพงแล้ว อีกหนึ่งประโยชน์ที่สำคัญก็คือการขายไฟคืนให้กับรัฐบาลได้

ทั้งนี้ การขายคืนดังกล่าวจะเป็นการดำเนินการผ่านโครงการโซลาร์ภาคประชาชน

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าเงื่อนไขข้อกำหนดเบื้องต้นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)  ประกอบด้วย

  • ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป้น ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านอยู่อาศัยกับ PEA เท่านั้น
  • เน้นให้ติดตั้ง Solar Rooftop ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Self Consumption) และไฟฟ้าที่เหลือสามารถขายไฟฟ้าได้
  • กำลังผลิตติดตั้งแผงโซลาร์ (PV) ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) ต่อรายสำหรับ เชื่อมต่อแบบ 3 เฟส (220/380 V) และ ไม่เกิน 5 kWp ต่อราย สำหรับเชื่อมต่อแบบ 1 เฟส (220 V)
  • ผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าเป็นผู้ลงทุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เองทั้งหมด
  • PEA จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบ ภายหลังได้รับการพิจารณา ในราคา 2,000 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
  • ราคาที่ PEA รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 2.2 บาท/หน่วย (kWh) ระยะเวลา 10 ปี
  • ปริมาณรับซื้อรวมในพื้นที่ PEA ปริมาณ 5 เมกะวัตต์ (MW) ต่อปี

ขณะที่การไฟฟ้านครหลวง (MEA) มีเงื่อนไขเบื้องต้นได้แก่

  • เปิดรับสมัครเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ติดตั้ง Solar Rooftop ในเขตจำหน่ายของ MEA กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ 
  • รับซื้อไฟฟ้า 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลาสัญญา 10 ปี 

ปัจจุบันแผง "โซลาร์เซลล์" ที่นิยมใช้งานมีอยู่ 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่

โมโนคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline Silicon Solar Cell)

  • ทำจากผลึกซิลิคอนเชิงเดี่ยวที่มีคุณภาพและมีความบริสุทธิ์สูง สังเกตได้ง่าย ๆ คือ ลักษณะของเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ลบมุมทั้งสี่ออก โดยนำมาวางเรียงต่อ ๆ กันเพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด มีสีเข้มที่ดูสวยงาม  และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น แม้อยู่ในภาวะแสงแดดน้อยก็ตาม ส่วนอายุการใช้งานยาวนานถึง 25 ปีขึ้นไป เเต่ขณะเดียวกันก็มีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น ในปัจจุบันยังมีแผงโซลาร์เซลล์ เกรดพรีเมี่ยม ซึ่งมีสีดำล้วน ดีไซน์เรียบเท่ ช่วยส่งเสริมให้บ้านดูสวยงามมีสไตล์ให้เลือกใช้อีกด้วย
     

พอลิคริสตัลไลน์ (Poly Crystalline Silicon Solar Cell)

  • ทำมาจากผลึกซิลิคอนเหมือนแผงโซลาร์เซลล์เเบบโมโนคริสตัลไลน์ แต่มีขั้นตอนการผลิตแตกต่างกัน โดยนำซิลิคอนเหลวมาเทใส่พิมพ์ที่เป็นสี่เหลี่ยม จากนั้นตัดแบ่งให้เป็นแผ่นบาง ๆ ทำให้เซลล์แต่ละเซลล์เป็นรูปสี่เหลี่ยมต่อ ๆ กัน โดยไม่มีการตัดมุมบริเวณขอบของช่องสี่เหลี่ยม และใช้ปริมาณซิลิคอนในการผลิตน้อยกว่า แผงเป็นสีน้ำเงินแต่ไม่เข้มมาก มีประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดี แต่น้อยกว่าแผงแบบโมโนคริสตัลไลน์ (ยกเว้นการใช้งานในที่อุณหภูมิสูง แผงแบบพอลิคริสตัลไลน์จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีกว่าแผงแบบโมโนคริสตัลไลน์เล็กน้อย) จึงมีราคาถูกกว่า อายุการใช้งานประมาณ 20-25 ปี

โซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง หรือ อะมอร์ฟัสโซลาร์เซลล์ (Amorphous Solar Cell)

  • หนึ่งในหลายชนิดของแผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cell) เกิดจากการนำสารที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้ามาฉาบเป็นชั้นฟิล์มบาง ๆ (ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น) บางคนจึงเรียกว่าโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ว่า ฟิล์มบาง นั่นเอง เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีราคาถูกที่สุด การผลิตกระแสไฟฟ้า และอายุการใช้งานมีน้อยกว่าแผงชนิดอื่น ๆ