เปิดวิธีเลือก "อินเวอร์เตอร์" ให้เหมาะก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ดูเลยที่นี่

08 ก.พ. 2566 | 10:55 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2566 | 10:55 น.

เปิดวิธีเลือก "อินเวอร์เตอร์" ให้เหมาะก่อนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ดูเลยที่นี่มีคำตอบ มีการแบบ ควรเลือกแบบไหน ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้แล้ว

โซลาร์เซลล์ หนึ่งทางเลือกในการประหยัดต้นทุนค่าไฟยุคใหม่ ยุคที่ค่าไฟแพงจากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มีผลมาจากต้นทุนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในประเทศขยับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนที่ใช้ไฟแบบบ้านอยู่อาศัยจะต้องจ่ายที่ราคา 4.72 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะต้องจ่ายอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วยในงวด ม.ค.-เม.ย. 66 

อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าอาจจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก หากสถานการณ์ต้นทุนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าไม่เป็นไปตามคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

อย่างไรก็ดี การติดตั้งโซลาร์เซลล์ยังมีอุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่ง ที่ผู้ติดตั้งจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมนั่นก็คือ อินเวอร์เตอร์ (Inverter) 

ส่วน "อินเวอร์เตอร์" คืออะไร ทำหน้าที่แบบไหน และมีกี่บาท "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบข้อมูลพบว่า
 

รู้จักอินเวอร์เตอร์ 

"อินเวอร์เตอร์" เป็นอีกอุปกรณ์สำคัญ มีหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่มาจากแผงโซลาร์เซลล์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) 

หลังจากนั้นจะส่งไปที่ตู้ไฟฟ้าหรือตู้เบรกเกอร์ เพื่อจ่ายไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างปลอดภัย 

สำหรับอินเวอร์เตอร์มีหลายประเภท แต่ที่นำมาใช้กับบ้านในปัจจุบันมี 2 ประเภท ได้แก่ 

สตริงอินเวอร์เตอร์ (String Inverter) 

  • การติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเป็นการติดตั้งแบบอนุกรม คือทุกแผงจะต่อรวมแรงดันไฟฟ้ามาที่อินเวอร์เตอร์ตัวใหญ่ตัวเดียว หรือที่เรียกกันว่า String Inverter ซึ่งมีข้อดีที่สามารถดูแลได้ง่ายเพราะควบคุมที่จุดเดียว แต่ก็มีข้อจำกัดคือ หากมีแผงโซลาร์เซลล์แผงใดแผงหนึ่งขัดข้อง จะส่งผลกระทบกับการทำงานของแผงอื่นๆด้วย

ไมโครอินเวอร์เตอร์ (Micro Inverter) 

  • เป็นการติดตั้งอินเวอร์เตอร์แยกย่อยติดอยู่ใต้แต่ละแผง ซึ่งไมโครอินเวอร์เตอร์ 1 ตัวจะต่อกับแผงโซลาร์เซลล์ 1 แผง เป็นการแปลงกระแสไฟฟ้าแบบอิสระต่อกัน เมื่อการทำงานของแผงใดแผงหนึ่งขัดข้องก็ไม่ส่งผลต่อแผงอื่นๆ และมีความปลอดภัยมากขึ้นเพราะเมื่อแปลงกระแสไฟฟ้าเป็นรายแผง จึงเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าแรงดันต่ำ อีกทั้งยังมีระบบ Rapid Shutdown ซึ่งจะตัดการทำงานทันทีเมื่อเกิดความผิดปกติกับระบบ แล้วยังมีการแสดงผลการทำงานและผลิตไฟแบบแยกแผง แต่ก็ทำให้มีราคาสูง และมีการติดตั้งซับซ้อนมากขึ้น