energy
945

กกพ.ปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป เชื่อมต่อระบบ 30 วัน หนุนลด CO2

    ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 4.72 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีกในปี 2566 ที่ประเมินว่าจะขยับข้นไปกว่า 5 บาทต่อหน่วย เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีที่นำเข้าในรูปแบบ Spot LNG มาผลิตไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นมาก

ผลจากค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้เอง ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จำเป็นต้องเร่งหรือจูงใจให้ภาคประชาชนหันมาให้ความสนใจโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์กันมากขึ้น

 

ทั้งนี้นอกจากจะผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในที่อยู่อาศัยเพื่อลดค่าครองชีพแล้ว เมื่อมีไฟฟ้าเหลือยังสามารถขายไฟฟ้ากลับเข้าระบบสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง และยังเป็นการช่วยชาติลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผันผวน และมีราคาสูงจากผลของวิกฤตราคาพลังงานโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน มีเป้าหมายที่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินปีละ 10 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 5 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.20 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ตามสัญญา (ซีโอดี) ภายใน 270 วัน นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

 

อย่างไรก็ตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ผ่านมายังมีอุปสรรค ในเรื่องของการเชื่อมต่อระบบให้สามารถจ่ายไฟฟ้าและใช้งานอุปกรณ์ ที่ต้องใช้เวลานานรวมทุกขั้นตอนประมาณ 90 - 135 วัน ทำให้ไม่เกินความคล่องตัวในการดำเนินงาน

 

กกพ.ปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป เชื่อมต่อระบบ 30 วัน หนุนลด CO2

 

ล่าสุดทาง กกพ. ได้ปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงาน โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทั้ง กฟน. และกฟภ. ไปตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบให้สามารถจ่ายไฟฟ้าและใช้งานอุปกรณ์ได้ภายใน 30 วันนับจากที่ได้รับแจ้ง

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ชี้ให้เห็นว่า ขั้นตอนที่ปรับแก้ไขใหม่นี้ ได้กำหนดให้ผู้ติดตั้งโซลาร์ยื่นคำขอจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าที่เชื่อต่อโครงการไว้ ได้แก่ โครงการที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ ได้ปรับลดระยะเวลาดำเนินการโดยรวมลง จากเดิมไม่ได้กำหนดวันไว้ เป็นกำหนดกรอบเวลาให้แล้วเสร็จไว้ที่ 30 วัน หลังแจ้งขอเชื่อมต่อ

 

โดยผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ต้องยื่นคำขอจดแจ้งยกเว้นฯ ต่อสำนักงาน กกพ. ผ่านระบบ Online เพื่อดำเนินการด้านเอกสารก่อนติดตั้ง ภายหลังติดตั้งแล้วเสร็จให้ยื่นขอเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายโดยการไฟฟ้าจะตรวจสอบระบบ เปลี่ยนมิเตอร์ และส่งข้อมูลจดแจ้งยกเว้นฯ ให้สำนักงาน กกพ. เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อและจ่ายไฟฟ้าได้

 

ขณะที่โครงการที่มีกำลังการผลิตติดตั้งตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป และต่ำกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ ซึ่งเข้าข่ายต้องขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม ( พค.2) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดทำและส่งข้อมูล เพื่อพิจารณให้ความเห็นการออกใบอนุญาต พค.2 ต่อ กกพ. โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการตรวจสอบระบบ สรุปผลและเสนอความเห็นการอนุญาต พค.2 ต่อ กกพ. ภายในระยะเวลาดำเนินการ 30 วันนับตั้งแต่ พพ. ได้รับคำขอจากสำนักงาน กกพ.

 

 ทั้งนี้ไม่รวมระยะเวลาดำเนินการกรณีที่ต้องมีการแก้ไขโดย พพ. รวมระยะเวลาการอนุญาต พค.2 และเชื่อมต่อของการไฟฟ้าฯรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 60 วัน

 

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงาน กกพ. ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ ให้คำปรึกษาการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งความคุ้มค่า และการดูแลบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน รวมถึงการรวบรวมอุปกรณ์และแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน ชำรุด หรือไม่ต้องการแล้ว เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องวิธี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้พลังงานหมุนเวียนแบบยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ที่สำคัญโครงการโซลาร์ภาคประชาชนนี้ จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ได้ในปี 2065 อีกด้วย