"กกพ." ลุยรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5.2 พันเมกะวัตต์

05 ต.ค. 2565 | 16:09 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2565 | 23:09 น.
1.5 k

กกพ.เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5,203 เมกะวัตต์ เอกชนที่สนใจลงทุนยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้า 4 พ.ย.65 โหมซื้อไฟจากโซลาร์ฟาร์ม 3,368 เมกะวัตต์ ตามด้วยพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ ประกาศผู้ชนะได้ มี.ค.66 คาดก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 

 

ทั้งนี้ ได้กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3 ประเภท ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้าราว 5,203 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เปิดรับซื้อรวม 335 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มเฉลี่ยการรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2569-2571 จำนวนปีละ 75 เมกะวัตต์, ปี 2572 จำนวน 70 เมกะวัตต์ และปี 2573 จำนวน 40 เมกะวัตต์

 

พลังงานลม เปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 1,500 เมกะวัตต์ จะเปิดรับตั้งแต่ปี 2568-2573 จำนวนปีละ 250 เมกะวัตต์ 3.พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) เปิดรับซื้อรวม 1,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการรับซื้อระหว่างปี 2567-2570 จำนวนปีละ 100 เมกะวัตต์ และปี 2571-2573 จำนวนปีละ 200 เมกะวัตต์
 

พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน รับซื้อไฟฟ้ารวม 2,368 เมกะวัตต์  โดยแบ่งการรับซื้อไฟฟ้าดังนี้ ปี 2567 รับซื้อ 190 เมกะวัตต์ , ปี 2568 รับซื้อ 290 เมกะวัตต์, ปี 2569 รับซื้อ 258 เมกะวัตต์, ปี 2570  รับซื้อ 440 เมกะวัตต์, ปี 2571 รับซื้อ 490 เมกะวัตต์, ปี 2572 รับซื้อ 310 เมกะวัตต์, ปี 2573 รับซื้อ 390 เมกะวัตต์

 

สำหรับสัญญารับซื้อไฟฟ้า จะเป็นทั้งรูปแบบ “สัญญา Non-Firm”  ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า โดยการไฟฟ้ามีสิทธิในการลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าได้ตามข้อกาหนดระบบโครงข่ายไฟฟ้า และ“สัญญา Partial-Firm” ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบบังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้าในช่วงระยะเวลาที่กำหนด

 

กกพ. ลุยรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5.2 พันเมกะวัตต์

 

โดยกำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบสัญญา Non – Firm ที่ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 90  เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) จากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ในรูปแบบสัญญา Partial – Firm ที่ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์

 

อย่างไรก็ดี โครงการที่เสนอขายไฟฟ้าต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ลงทุนก่อสร้างใหม่ และไม่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือไม่เคยได้รับการตอบรับซื้อจากการไฟฟ้า และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เป็นโครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. หรือการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ที่ยังมีผลใช้บังคับ

สำหรับกรอบรยะเวลาการเปิดรับซื้อไฟฟ้านั้น กกพ.จะออกประกาศให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ายื่นคำขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและออกประกาศกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน สถานที่ ระยะเวลา รวมทั้งเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อไฟฟ้า และเปิดให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ายื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าภายในเดือนตุลาคม 2565 และเปิดให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ายื่นตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าระหว่างวันที่ 3 - 28 ตุลาคม 2565

 

ส่วนผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะต้องยื่น และยืนยันการยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า พร้อมเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติ และข้อมูลความพร้อมทางด้านเทคนิคพร้อมเอกสารหลักฐานผ่านระบบ RE Proposal เพื่อลงนามและยื่นให้แก่ 3การไฟฟ้า โดยจะเปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 เวลา 00:01 น. จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เวลา 12:00 น. 

 

และจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติในวันที่ วันที่ 2 ธันวาคม 2565  ซึ่งผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ไม่ผ่านคุณสมบัติยื่นอุทธรณ์พร้อมเอกสารหลักฐานต่อ กกพ. ภายในวันที่ 4 มกราคม 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำในวันที่ 18 มกราคม 2566 

 

กกพ. ลุยรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาด 5.2 พันเมกะวัตต์

 

หลังจากนั้นจะประกาศผลการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และกกพ. ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกในวันที่ วันที่ 15 มีนาคม 2566 โดยทางการไฟฟ้าจะแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกลงนามทราบ และยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในวันที่ 29 มีนาคม 2566 

 

โดยผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามกำหนดวัน SCOD ที่ได้รับการคัดเลือกภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ครบกำหนดกระบวนการที่ 13 (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2567 ถึง 2568) หรือ ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่ครบกำหนดกระบวนการที่ 13 (กรณีกำหนดวัน SCOD ภายในปี 2569 ถึง 2573)