สมาคมทีวีดิจิตอลย้ำทุกช่องต้องได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก”

18 พ.ย. 2565 | 14:20 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2565 | 21:23 น.
652

สมาคมทีวีดิจิตอล ย้ำกฎ “มัสต์ แครี่” ทุกช่องต้องได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก 2022” โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

เป็นที่ยืนยันแล้วว่า คนไทยจะได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 แมตซ์ หลังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จัดสรรงบกองทุน กทปส. จำนวน 600 ล้านบาท ผนวกกับภาคเอกชนร่วมลงขันเป็นสปอนเซอร์อีก 700 ล้านบาท  แต่คำถามคือ ใครจะมีสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดในครั้งนี้บ้าง

ฟุตบอลโลก 2022

เมื่อ 3 สปอนเซอร์รายใหญ่ ได้แก่

 

  • บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทลูก ลงขันจ่าย 300 ล้านบาท 
  • บริษัทปตท.น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ลงขันจ่าย 150 ล้านบาท
  • บริษัทไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน)  ลงขันจ่าย 100 ล้านบาท
  • ที่เหลือเป็นเอกชนรายย่อยที่สนับสนุนเงินให้อยู่ที่บริษัทละ 30-50 ล้านบาท

 

การถ่ายทอดสด จึงหวั่นว่าจะตกไปอยู่กับช่อง TNN, True4U, TrueID ในเครือซีพี รวมถึงช่อง AmarinTV ของไทยเบฟ

 

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า คณะทำงานสมาคมฯ ได้มีการประชุมกันเกี่ยวกับประเด็นการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งมีประเด็นการเรียกเงินเพิ่มเติม แต่ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) ได้ทำการชี้แจงว่าเป็นการเข้าใจผิดกันเกี่ยวกับการลงขันเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้สมาคมทีวีดิจิตอลฯ ขอยืนยันชัดเจนเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ ต้องประกอบด้วย

 

1.ทีวีดิจิทัลทุกช่องต้องได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟรี ส่วนช่องใด จะได้รับการถ่ายทอดคู่ไหน ต้องไปบริหารจัดการให้เรียบร้อย หากบางช่องต้องการถ่ายทอดคู่พรีเมียม แมตซ์สำคัญให้ได้ ทุกฝ่ายต้องดำเนินการเจรจากันเอง

สุภาพ คลี่ขจาย

นอกจากนี้ เมื่อภาครัฐมีการนำเงินจากกองทุน กทปส.วงเงิน 600 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนตั้งต้นไปจ่ายค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 จึงมีเหตุมีผลที่ทีวีดิจิทัลครบทุกช่องต้องได้รับการถ่ายทอดสด

 

2.เมื่อมีการดึงเงินจากกองทุน กทปส. มูลค่า 600 ล้านบาทไปแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ไม่ต้องจ่ายเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากเหตุผลใช้เงินครั้งนี้ กสทช. มีการอ้างอิง มาตรา 52(1) เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ช่วยคนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาสได้มีการเข้าถึงการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์เช่นเดียวกันกับทุกคน

 

“ที่สำคัญตามกฎมัสต์ แครี่ (Must Carry)  ทีวีดิจิทัลต้องถ่ายทอดสดรายการกีฬาสำคัญให้กับชาวไทยได้รับชมอย่างเท่าเทียมกันด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม หากยังเกิดปัญหาการถ่ายทอดสดอีก โดยเฉพาะมีเพียงทีวีดิจิทัลของรัฐ และช่องของสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนเงินเพิ่ม ส่วนช่องอื่นๆไม่ได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอด เป็นสิ่งที่กสทช. จะต้องแอ็คชั่นต่อ เพราะเงินส่วนหนึ่งยังมาจากกองทุน กทปส. ที่เก็บจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลตอนประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ(ไลเซ่นส์)”

 

นายสุภาพ กล่าวว่า หากมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ผ่านทีวีดิจิทัลทุกช่อง สมาคมไม่คาดหวังเม็ดเงินโฆษณาจะสะพัด เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ไม่มีเงินในตลาด อีกทั้งที่ผ่านมา ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้คนรวย คนจน บาดเจ็บเท่ากันถ้วนหน้า

 

ส่วนภาพรวมทีวีดิจิทัลคาดว่ามีความคึกคักเล็กน้อย เนื่องจากรายการกีฬาสดระดับโลก รับชมผ่านทีวีจอใหญ่มีความมันส์มากขึ้น รวมถึงช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เงินสะพัดในธุรกิจร้านอาหาร ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกออฮอล์ เป็นต้น

 

“อย่าไปคาดหวังมาก เรื่องเม็ดเงินโฆษณา เพราะในอุตสาหกรรมไม่มีเงินแล้ว ไม่ใช่แค่การได้ลิขสิทธิ์แบบฉุกละหุก ต่อให้เตรียมตัวล่วงหน้า 3-4 เดือน เศรษฐกิจแบบนี้ เงินในท้องตลาดหายไปค่อนข้างมาก ส่วนภาพรวมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง หรือเงินบนโต๊ะอาจสะพัดบ้าง”