ฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มลงสนามฟาดแข้งกันในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะได้รับชมการถ่ายทอดสดหรือไม่ เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องซื้อมีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาสูงลิ่ว เป็นเพราะเอเย่นต์รับทราบว่าประเทศไทยมีกฎมัสต์แฮพ (Must Have)
สำหรับกฎมัสต์แฮพ (Must Have) ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า 7 มหกรรมกีฬาที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลก
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เอเย่นต์ของฟีฟ่ารู้ว่าประเทศไทยมีกฎ กติกา เรื่องลิขสิทธิ์ หรือ กฎมัสต์แฮพ (Must Have) จึงมีการเรียกราคามาค่อนข้างสูง ดังนั้นในตอนนี้ก็ยังมีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม รวมทั้งต้องเป็นราคาที่ประเทศไทยไม่ถูกเอาเปรียบจนเกินไปอีกด้วย
ขณะเดียวกันหากภาคเอกชนสนใจที่จะสนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ร่วมกัน ก็ยินดี โดยกรอบเวลาหรือเส้นตายที่ต้องเจรจาซื้อ-ขายลิขสิทธิ์นั่น สามารถทำได้จนถึงก่อนนัดเปิดสนามที่จะเริ่มในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้
"ความชัดเจนเกี่ยวกับการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 อาจต้องรอถึงสัปดาห์หน้า แต่เบื้องต้นในวันที่ 9 พฤศจิกายนนี้ จะได้ข้อสรุปเรื่องของกรอบวงเงินที่จะนำไปใช้ซื้อลิขสิทธิ์ว่าจะได้รับอนุมัติเป็นจำนวนเท่าใดจากกรอบที่มีการตั้งเอาไว้"
ส่วนความเคลื่อนไหวจากฟากฝั่งรัฐฯ หลังจากที่กกท.ได้ยื่นเรื่องขอการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย(FIFA World Cup Final) 2022 จากกสทช. และทางบอร์ด กสทช.ยังไม่ผ่านความเห็นชอบและให้ กกท. เสนอรายละเอียดแผนขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาอีกรอบ เพื่อให้คณะทำงานพิจารณาว่าราคาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 คุ้มค่าการลงทุนหรือไม่
ล่าสุดมีรายงานว่าในวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 บอร์ด กสทช.มีระเบียบวาระการประชุม ครั้งที่ 30/2565 ตั้งแต่เวลา 10.00-16.30 น. โดยงบขอสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ถูกบรรจุในวาระ 7.2 เป็นวาระเพิ่มเติม เรื่อง การขอรับการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย(FIFA World Cup Final) 2022 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา