เดินหน้าสายสีเทา-สีทอง กทม.เร่งสางปมงบลงทุน/เปิดทางเอกชนหารือเคที

17 ก.ย. 2559 | 12:00 น.
918
กทม.เดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีเทาและสายสีทอง เร่งเคลียร์ปมงบลงทุนให้ชัดเจน บิ๊กสจส.ยันพร้อมลงทุนเอง ส่วนเอกชนรายใดสนใจพร้อมเปิดทางเจรจากับเคทีได้ทันที ล่าสุดรอผลการออกแบบอุโมงค์ทางลอดช่วงพื้นที่แยกวงเวียนเล็กเชื่อมถนนอรุณอมรินทร์และอุโมงค์ทางเดินเชื่อมวงเวียนใหญ่ของสำนักการโยธา เผยยังมีลุ้นเสนอคณะกรรมการเคาะรูปแบบการลงทุนทันสิ้นปีนี้ ส่วนกรณีเจรจาสายสีเขียวใต้ยังไม่แล้วเสร็จ

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง(สถานีกรุงธนบุรี-คลองสาน)ว่าล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ขอให้กทม.ให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าทำไม่จึงขอยกเลิกมติครม.ที่จะต้องก่อสร้างในแนวใต้ดินเพื่อก่อสร้างเป็นทางยกระดับแทนโดยได้ให้เหตุผลเพิ่มเติมกลับไปยังครม.แล้ว

เช่นเดียวกับความชัดเจนในการเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนในโครงการดังกล่าว ยืนยันว่ากทม.ไม่เคยนำเสนอให้เอกชนลงทุนแต่กทม.พร้อมลงทุนเองทั้งหมด ส่วนกรณีที่เอกชนสนใจจะเข้ามาลงทุนในด้านใดบ้างนั้นจะต้องไปสอบถามกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที วิสาหกิจของกทม.ที่รับดำเนินการโครงการนี้ต่อจากสจส. ซึ่งเคทีเสนอว่าสามารถรับดำเนินโครงการนี้ได้ โดยจะรับภาระงบประมาณการลงทุนทั้งหมดเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อกทม.

"มั่นใจว่าการดำเนินการรูปแบบนี้จะไม่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ร่วมลงทุนฯ โดยนโยบายจะดำเนินการให้เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีกรุงธนบุรีไปจนถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วง ณ จุดใกล้สะพานพระปกเกล้า ประการสำคัญสำนักการโยธากทม.มีแผนก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดช่วงถนนพระปกเกล้าอีกด้วย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับถนนอรุณอมรินทร์ได้ด้วยจึงเชื่อมโยงกับถนนสมเด็จเจ้าพระยาได้อย่างสะดวกจึงมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับศักยภาพของถนนสมเด็จเจ้าพระยา"

ทั้งนี้ในส่วนการพัฒนาระยะที่ 2 ที่จะต่อจากไอค่อนสยามไปยังวัดอนงคารามใกล้วงเวียนเล็กนั้นยังต้องรอดูความชัดเจนของรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ที่จะผ่านพื้นที่วงเวียนเล็ก โดยแนวเส้นทางการพัฒนาของสำนักการโยธาจะมีอุโมงค์ทางลอดไปยังกรมอู่ทหารเรือได้อีกด้วย ดังนั้นรูปแบบการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดของรถยนต์และอุโมงค์ทางคนเดินจึงต้องชัดเจนเพื่อให้การเชื่อมโยงรถไฟสายสีทองเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

นายทวีศักดิ์ ยังกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา(วัชรพล-ทองหล่อ) ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอรับรองการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี โดยเฉพาะรูปแบบการดำเนินโครงการของรถไฟฟ้าสายสีเทานั้นจะมีหลายรูปแบบให้เลือกดำเนินการ อาทิ กทม.ลงทุนเองทั้งหมด หรือมอบหมายให้เคทีรับไปดำเนินการ และการร่วมลงทุนฯพีพีพี

"กรณีที่กลุ่มเค.อี.แลนด์ เข้ามาสนับสนุนพื้นที่การก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ส่วนประเด็นการเชื่อมโยง ณ จุด ใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสช่วงสถานีทองหล่อนั้นยังจะต้องเดินเท้าผ่านสกายวอล์กไปหากันได้ ทั้งนี้ในปี 2560 รถไฟฟ้าสายสีเทาจะได้เห็นความชัดเจนด้านการศึกษาอีไอเอ ตลอดจนรูปแบบการลงทุนที่สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้กับการรออีไอเอ ซึ่งเคทีอยู่ระหว่างดำเนินการดังกล่าวก่อนเร่งเสนอผู้บริหารกทม. พิจารณาต่อไปเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อกทม.มากจนเกินไปคาดว่าจะสามารถยื่นเพื่อพิจารณาได้ทันปลายปีนี้"

นายทวีศักดิ์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาระหว่างกทม.กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อกรณีภาระหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ว่ากรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับโอนโครงการมาจากรฟม.

"ปัจจุบันคณะกรรมการทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันคือ กทม.-รฟม. โดยกระทรวงคมนาคมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้จำนวน 3 ชุด คือ 1.ด้านเทคนิค 2.คณะกรรมการพิจารณาภาระหนี้สินและทรัพย์สิน และ 3.คณะกรรมการบริหารและกำกับโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของคณะกรรมการคณะที่ 1 และคณะที่ 2 คาดว่าคงจะมีการหารืออีกหลายครั้งจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการชุดที่ 3 พิจารณาต่อไป"

ทั้งนี้ในส่วนงบประมาณการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา(วัชรพล-ทองหล่อ) วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท สายสีเขียวใต้(แบริ่ง-สมุทรปราการ) วงเงินกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท และสายสีทอง(กรุงธนบุรี-คลองสาน) วงเงินกว่า 3,845 ล้านบาท โดยกทม.จะมอบหมายให้เคทีไปดำเนินการหาทุนเพื่อนำไปดำเนินโครงการต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2559