thansettakij
เจาะฐานะการเงิน 'ITD' หลังเหตุตึก สตง.ถล่ม เผชิญภาระหนี้ท่วม-ขาดทุนสะสม

เจาะฐานะการเงิน 'ITD' หลังเหตุตึก สตง.ถล่ม เผชิญภาระหนี้ท่วม-ขาดทุนสะสม

29 มี.ค. 2568 | 05:06 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2568 | 07:48 น.
9.9 k

เปิดงบการเงิน ITD ผู้รับเหมาก่อสร้างตึก สตง. ที่ถล่ม หลังแผ่นดินไหว พบกำลังเผชิญวิกฤตสภาพคล่อง ขาดทุนสะสมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 1.3 หมื่นล้านบาท

ฐานเศรษฐกิจ - กรณีตึกที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งมีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท

ตึก สตง. ถล่ม ผู้รับเหมาต้องรับผิด

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์พิเศษกฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐาน ระบุว่า ตามสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 11 วรรคสอง หากตึกถล่มเป็นเพราะความผิดของผู้รับจ้าง หรือแม้แต่เกิดจากเหตุสุดวิสัยอย่างแผ่นดินไหว แต่ยังไม่มีการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย ผู้รับจ้างต้องรับผิดในการก่อสร้างใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง โดยจะเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มเติมจาก สตง. ไม่ได้

ที่สำคัญ สัญญาจ้างข้อ 13 ยังระบุว่า ผู้รับจ้างจะอ้างเหตุจากการมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือผู้ควบคุมงาน เพื่อให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้

สำหรับความเสียหายที่เกิดกับคนงานและบุคคลภายนอก สัญญาจ้างข้อ 12 วรรคสาม กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยให้ลูกจ้างทุกคน และข้อ 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุและความเสียหายที่เกิดจากการปฏิบัติงาน ดังนั้น ผู้เสียหายจะได้รับเงินเยียวยาตามกรมธรรม์และตามสิทธิที่มีตามกฎหมาย

งบการเงิน ITD ขาดทุนสะสมทะลุหมื่นล้าน

ในขณะที่ความรับผิดชอบจากกรณีตึก สตง. ถล่มกำลังเป็นที่จับตา งบการเงินล่าสุดของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แสดงให้เห็นถึงปัญหาทางการเงินที่รุนแรง

บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด ผู้ตรวจสอบบัญชี เปิดเผยว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มบริษัทมีขาดทุนหลังภาษีถึง 4,950.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อนที่ขาดทุน 421.54 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีขาดทุนสะสมสูงถึง 12,138.78 ล้านบาท

ขณะที่สถานการณ์ด้านสภาพคล่อง กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนถึง 13,553.78 ล้านบาท ซึ่งหนี้สินส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินเบิกเกินบัญชี เงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถูกจัดประเภทเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นเนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา

เสี่ยงผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ แบงก์มีสิทธิเรียกคืนทันที

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้เรื่องการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ทำให้สถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระคืนเงินกู้ยืมทันทีจำนวน 3,413.35 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น 51.65 ล้านบาท และระยะยาว 3,361.70 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับหนังสือจากสถาบันการเงินให้ความยินยอมและผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท ได้มีมติให้บริษัทเลื่อนชำระหุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี นับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนเดิม

ฝ่ายบริหารยังมั่นใจดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง แม้เผชิญความไม่แน่นอนหลายประการ

แม้จะเผชิญปัญหาทางการเงินรุนแรง ฝ่ายบริหารของกลุ่มบริษัทยังคงมั่นใจว่าสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยได้วางมาตรการในการจัดหาเงินและรักษาระดับกระแสเงินสดสำหรับการชำระหนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจสอบบัญชีระบุว่า ยังมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญหลายประการซึ่งขึ้นอยู่กับการเรียกใช้สิทธิในการเรียกชำระคืนเงินกู้ของสถาบันการเงิน ความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนธุรกิจ การจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม และความสามารถในการจ่ายชำระเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ตามวันครบกำหนดใหม่

ความเสี่ยงทวีคูณ หลังเหตุตึก สตง. ถล่ม

เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัทที่กำลังเผชิญปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว นอกจากความรับผิดชอบในการก่อสร้างใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเองมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท บริษัทยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนงานและบุคคลภายนอก

ล่าสุดมีรายงานว่า ได้มีการทำประกันภัยตึก สตง. ที่ถล่ม สำหรับการประกันภัยContractor All Risk (CAR) มี Total Sum Insure 100% มูลค่า  2,241 ล้านบาท โดยมีบริษัทประกันภัย 4 แห่ง ร่วมรับประกันตามสัดส่วน ได้แก่ ทิพยประกันภัย 40% กรุงเทพประกันภัย 25%  อาคเนย์ประกันภัย(อินทรประกันภัยในปัจจุบัน) 25%  และวิริยะประกันภัย 10%