thansettakij
แผ่นดินไหวทำตึก สตง.พัง ผู้รับจ้างก่อสร้าง ต้องรับผิดชอบหรือไม่?

แผ่นดินไหวทำตึก สตง.พัง ผู้รับจ้างก่อสร้าง ต้องรับผิดชอบหรือไม่?

29 มี.ค. 2568 | 03:57 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2568 | 04:18 น.

แผ่นดินไหวทำตึกสูงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)พังระหว่างก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องรับผิดหรือไม่? ต้องสร้างใหม่เองหรือเรียกเงินเพิ่มจากรัฐได้?

เจาะลึกข้อ 11, 12 และ 21 ของ สัญญาจ้างก่อสร้าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าใจอย่างแท้จริง

เกิดเหตุการณ์ใหญ่กลางกรุงเทพฯ

ตึกสูงของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว

 • คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิต

 • อาคารข้างเคียงได้รับผลกระทบ

 • และที่สำคัญ… อาคารนี้อยู่ระหว่างก่อสร้าง ยังไม่ได้ส่งมอบงาน

แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ…

ตึกสูงอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง “ไม่พัง” พังแค่ตึกเดียว… ทำไม?

เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่แผ่นดินไหว แต่เป็นเรื่อง ที่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจาก “แบบแปลน” หรือ “การก่อสร้าง”

ถ้าเกิดจาก “แผ่นดินไหว” อย่างเดียว ใครต้องรับผิด?

หลายคนอาจเข้าใจว่า แผ่นดินไหวเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งคือเหตุสุดวิสัยจริง

แต่ใน สัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 11 เขียนไว้ชัดว่า :

“ความเสียหายใด ๆ อันเกิดแก่งานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้น แม้จะเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบ โดยซ่อมแซมให้คืนดีหรือเปลี่ยนให้ใหม่โดยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง”

เว้นแต่เพียงอย่างเดียว : ถ้าความเสียหายเกิดจาก “ความผิดของผู้ว่าจ้าง” เช่น การออกแบบผิด

สรุป :

 • แผ่นดินไหว → เหตุสุดวิสัย

 • แต่ถ้ายังไม่ส่งมอบงาน → ผู้รับจ้างต้องสร้างใหม่เองทั้งหมด

 • ผู้ว่าจ้างไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มแม้แต่บาทเดียว

และที่สำคัญที่สุด :

ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างเพิ่ม หรือเงินชดเชยจากผู้ว่าจ้างแม้แต่น้อย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้างใหม่ “ทั้งหมด” ด้วยตนเอง เพราะยังอยู่ในระยะเวลารับผิดชอบตามสัญญา ยังไม่ได้ส่งมอบงานขั้นสุดท้ายและไม่มีข้อความใดในสัญญาที่เปิดโอกาสให้ผู้รับจ้างเรียกเงินเพิ่มจากผู้ว่าจ้างในกรณีนี้

 

ถ้าแบบแปลนผิด ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด

หากพิสูจน์ได้ว่าแบบแปลนของผู้ว่าจ้างผิด เช่น

 • คำนวณพลาด

 • ไม่ออกแบบให้รองรับแรงแผ่นดินไหว

 • หรือวางระบบโครงสร้างไม่เหมาะสม

ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดในความเสียหายนั้นเพราะถือเป็น “ความผิดของผู้ว่าจ้าง” ตามข้อ 11

แต่ถ้าแบบถูกต้องตามหลักวิศวกรรมแล้ว…

ผู้รับจ้างไม่มีทางหลุดความรับผิดชอบได้เลย ไม่ว่าจะอ้างแผ่นดินไหวหรืออะไรก็ตาม

 

 แล้วตอนนี้ เรารู้อะไร?

 • ตึกนี้พังจากแผ่นดินไหว

 • ตึกข้างเคียงไม่พัง

 • แสดงว่า “น่าจะมีปัญหาเฉพาะตึกนี้”

 • ซึ่งต้องรอผลพิสูจน์จากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญต่อไป

แต่ หากแบบไม่ผิด → ผู้รับจ้างรับผิด 100%

 

 แล้วชีวิตของคนงานล่ะ?

ตาม ข้อ 12 ของสัญญาจ้างก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องทำประกันภัยให้แรงงานทุกคน

“ผู้รับจ้างต้องจัดให้มีประกันภัยสำหรับลูกจ้างทุกคน…ครอบคลุมอุบัติเหตุหรือภยันตรายใด ๆ ที่เกิดจากการทำงาน”

ถ้ามีประกัน → ต้องเคลม

ถ้าไม่มีประกัน หรือประกันไม่พอ → ผู้รับจ้างต้องชดใช้เอง

และถ้าผู้รับจ้างเพิกเฉย → ผู้ว่าจ้างมีสิทธิหักจากค่าจ้างในสัญญาไปจ่ายแทนให้ลูกจ้างได้ทันที

 

 แล้วบ้านเรือนหรือทรัพย์สินภายนอกที่เสียหาย?

ข้อ 11 ยังระบุอีกว่า ถ้าบุคคลภายนอกเสียหายจากการทำงานของผู้รับจ้าง

“ผู้รับจ้างต้องชดใช้ทั้งหมด รวมถึงว่าความแทนผู้ว่าจ้างหากมีการฟ้องร้อง”

 

 ถ้าต้องสร้างใหม่ ผู้รับจ้างมีสิทธิขอขยายเวลาไหม?

มีสิทธิ แต่ต้องเป็นไปตาม ข้อ 21 ของสัญญาจ้างก่อสร้าง ซึ่งเขียนไว้ชัดว่า :

“ผู้รับจ้างต้องแจ้งเหตุสุดวิสัย พร้อมหลักฐาน เป็นหนังสือ ภายใน 15 วันนับจากวันที่เหตุสิ้นสุด มิฉะนั้น ถือว่าสละสิทธิ์โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ”

คำว่าเป็นข่าวระดับประเทศ ≠ ผู้ว่าจ้างทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

ผู้รับจ้างยังต้อง “แจ้งเป็นหนังสือ” อยู่ดี

ถ้าไม่แจ้ง → หมดสิทธิขยายเวลา / งดค่าปรับทันที

 

 สรุปให้เข้าใจง่ายที่สุด

 • ถ้าแบบแปลนถูกต้อง → ผู้รับจ้างต้องสร้างใหม่เองทั้งหมด ไม่คิดเงินเพิ่ม (ข้อ 11)

 • ถ้าพิสูจน์ได้ว่าแบบผิด → ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด

 • ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างเพิ่มจากผู้ว่าจ้าง แม้เป็นเหตุสุดวิสัย

 • คนงานเจ็บ-ตาย → ผู้รับจ้างต้องชดใช้ (ข้อ 12)

 • บ้านคนอื่นเสียหาย → ผู้รับจ้างต้องชดใช้ทั้งหมด

 • จะขอขยายเวลาก่อสร้าง → ต้องแจ้งใน 15 วัน (ข้อ 21)

 • ไม่แจ้ง = หมดสิทธิ์โดยไม่มีข้อยกเว้น

 

บทเรียนของรัฐ

  •  ต้องรู้หน้าที่ของผู้รับจ้าง ไม่ใช่ตีความแบบเอื้อประโยชน์ผิดทาง
  •  ต้องรู้ว่าข้อ 11, 12, 21 ของ “สัญญาจ้างก่อสร้าง” คือเครื่องมือคุ้มครองผลประโยชน์ของแผ่นดิน
  •  ต้องกล้าใช้สิทธิตามสัญญา
  •  และที่สำคัญ… ต้องเข้าใจว่าแผ่นดินไหวไม่ได้แปลว่าไม่ต้องรับผิดเสมอไป

ตึกถล่มไม่ควรทำให้กฎหมายถล่มไปด้วยเจ้าหน้าที่รัฐต้องรู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้แนวทางที่ถูกต้อง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างมืออาชีพ

ข้อมูลโดย : ช่างถึก โยธาไทย

อดีตวิศวกรสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

ผู้อำนวยการสถาบันฝึกอบรมโยธาไทย