ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เปิดเผยแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2568 พบว่าการฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจยังไม่เท่ากัน โดยกลุ่มโรงแรมและอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติ ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยยังต้องเผชิญกับอุปทานส่วนเกินและข้อจำกัดด้านสินเชื่อ ซึ่งอาจทำให้การเติบโตเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นางสาวรุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ระบุว่า แนวโน้มของตลาดโรงแรมและตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมในปีนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก ธุรกรรมการเช่าในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ คาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง
ส่วนด้านตลาดที่พักอาศัย อุปทานส่วนเกินจะทำให้ปี 2568 ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่โดยรวมแล้วคาดว่าความต้องการจากภายในประเทศและสภาพคล่องทางการเงินจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงระหว่างปี ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นในเชิงบวกและความคึกคักเพิ่มขึ้นในทุกตลาด
ตลาดที่พักอาศัยในปีนี้ยังต้องเผชิญกับอุปทานส่วนเกิน โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดมิเนียมระดับกลาง ส่งผลให้การเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้ประกอบการมุ่งเน้นไปที่การจัดการสต็อกคงค้างและกระตุ้นยอดขายยูนิตพร้อมอยู่
อย่างไรก็ตาม ตลาดคอนโดมิเนียมหรูและซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ยังคงมีดีมานด์สูง โดยเฉพาะจากผู้ซื้อชาวไทยที่มองหาที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียม และชาวต่างชาติที่ต้องการบ้านหลังที่สองในไทย โครงการ Branded Residence มีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากการตลาดเชิงรุกของผู้พัฒนาโครงการ
นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปี 2568 มีสัญญาณชี้ให้เห็นถึงกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลักชัวรีและซูเปอร์ลักชัวรี ทั้งโครงการที่เป็น Branded Residence และประเภทอื่นๆ
โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นการผสมผสานระหว่างความต้องการของผู้ซื้อชาวไทยที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองและผู้ซื้อชาวต่างชาติที่ต้องการบ้านหลังที่สอง โดยเฉพาะจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งโครงการเหล่านี้หลายโครงการได้เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปแล้วในปี 2567 และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีนี้ หลังผู้พัฒนาโครงการมีความมั่นใจเพียงพอจากการทำแคมเปญการตลาดก่อนการเปิดตัว
ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ยังคงมีอุปทานใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาคารเกรด A และอาคารที่ได้มาตรฐาน ESG โดยนายนิโคลัส เว็ทเทวิงเคล ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ระบุว่า การแข่งขันในตลาดสำนักงานรุนแรงขึ้น ผู้เช่ามีอำนาจต่อรองมากขึ้น ทำให้เจ้าของอาคารต้องปรับกลยุทธ์ทั้งลดค่าเช่าและปรับปรุงอาคารให้ทันสมัยเพื่อรักษาผู้เช่า
"สิ่งสำคัญคือ เจ้าของอาคารสำนักงานต้องประเมินกลยุทธ์การบริหารสินทรัพย์ ทั้งระยะกลางถึงระยะยาว สำหรับอาคารสำนักงานของตนเอง เนื่องจากอาคารสำนักงานใหม่ที่เข้ามาในตลาดนั้นมีพื้นที่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันเพิ่มขึ้น"
ตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯ คึกคักต่อเนื่อง โดยมีอุปทานใหม่จากศูนย์การค้าแบบปิด (Enclosed mall) เพิ่มขึ้น ศูนย์การค้าใจกลางเมืองพัฒนาและปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจากญี่ปุ่นและจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่แบรนด์ยุโรปยังคงเป็นผู้นำในกลุ่มแฟชั่นและเครื่องประดับ
ปี 2567 เป็นปีที่แข็งแกร่งของภาคธุรกิจโรงแรม โดยคาดว่าปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 จากการผ่อนปรนข้อกำหนดด้านวีซ่าและการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน
นางสาวโชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและให้คำปรึกษา ซีบีอาร์อี ประเทศไทย คาดว่า ADR (Average Daily Rate) และ RevPAR (Revenue per Available Room) ของโรงแรมในกรุงเทพฯ จะอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากความต้องการของตลาดที่แข็งแกร่ง
ด้านความต้องการในตลาดพื้นที่อุตสาหกรรมยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) และจังหวัดข้างเคียง นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลที่ดึงดูดบริษัทต่างชาติผ่านการสร้างแรงจูงใจที่ตรงต่อกลุ่มเป้าหมายยังคงได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเฉพาะการขายที่ดินภายในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความต้องการโรงงานสำเร็จรูปจากกลุ่มซัพพลายเออร์
ซีบีอาร์อียังสังเกตประเด็นที่น่าสนใจคือความต้องการที่แข็งแกร่งจากภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายและจากหลายประเทศ รวมถึงความต้องการภายในประเทศเอง นอกจากนี้ ตลาดโลจิสติกส์กำลังมีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ผู้พัฒนารายใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดและมีการให้บริการพื้นที่ที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังเติบโต
ทั้งนี้ แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2568 ยังคงมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ผู้พัฒนาโครงการต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงและสภาวะตลาดที่แตกต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ