กูรูอสังหาฯ ชี้ VAT15% ทุบกำลังซื้อในประเทศ ลดภาษีนิติบุคคลดูดทุนต่างชาติ

06 ธ.ค. 2567 | 17:37 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2567 | 17:49 น.

กูรูอสังหาฯ “สุรเชษฐ กองชีพ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ” ชี้ชัด ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก7% เป็น15% กระทบกำลังซื้อในประเทศ ด้าน การปรับลดภาษีนิติบุคคลลงเหลือ15% ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศ เพิ่มขีดแข่งขันกับประเทศในแถบในอาเซียน

 

 

นโยบาย ปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ของรัฐบาล โดยขยายฐานภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา และลดการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลเหลือ15% เพื่อดึงดูดการลงทุนของชาวต่างชาติ ขณะที่พูดถึงเป็นวงกว้างและมีท่าทีไม่เห็นด้วย คือ กรณีนายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของรัฐบาล จากที่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 7% เป็น15%และขอเวลากลับไปศึกษานั้น  

สุรเชษฐ กองชีพ

 

 นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 15% อาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของคนไทยแน่อน เพราะราคาสินค้าทั้งอุปโภคและบริโภคคงแพงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าอ้างอิงตามนโยบายรัฐบาลที่จะปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาแล้ว ในระยะยาวก็น่าจะมีผลดีต่อคนไทย เพราะสามารถนำรายได้ส่วนนี้มาจัดสรรให้กับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลได้มากขึ้น

การปรับลดภาษีนิติบุคคลลงมาที่ 15% หรือรัฐบาลอาจจะบอกว่าเป็นการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม Global MinimubTax (GMT) ซึ่งเท่ากับ 15% ซึ่งการปรับลดครั้งนี้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับบริษัทหรือนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาประเทศไทยให้มากขึ้น

เพราะหลายประเทศโดยเฉพาะในอาเซียนที่เป็นคู่แข่งในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติก็มีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่าอัตราของไทยปัจจุบันแล้วยังมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่สามารถปรับลดภาษีได้อีก ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องการเงินลงทุนจากต่างชาติมากกว่าที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เร่งศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงการดึงประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมีผู้เข้าสู่ระบบภาษีราว 11 ล้านคน แต่ชำระภาษีจริงเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งจำนวนผู้เสียภาษีเป็นเช่นนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นจึงต้องหาแนวทางที่จะดึงประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีให้ได้ โดยจะเสนอแผนการปรับโครงสร้างภาษีใหม่นี้ ให้ รมว.คลัง พิจารณาภายในสิ้นปีนี้

“การปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร และต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจด้วยว่าเหมาะสมที่จะปรับขึ้นภาษีหรือไม่ เพราะการปรับขึ้นภาษีเป็น ภาระประชาชน”

สำหรับแนวทางการดึงประชาชนเข้าสู่ระบบภาษีนั้น เบื้องต้นจะปรับภาษีนิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) เป็นอัตราเดียวกัน คาดว่าจะอยู่ในระดับ 15% และเพิ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีความมั่งคั่ง (Wealth Tax) หรือภาษีคนรวย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในเมื่อคนรวยมีเงินใช้จ่ายมาก ควรจะต้องเสียภาษีมากกว่า ขณะเดียวกันจะต้องมีการยกเลิกการลดหย่อนทั้งหมด เนื่องจากมีความซับซ้อนยุ่งยากด้วย เพื่อโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีทั้งระบบ

นายลวรณกล่าวต่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ ถือว่าเริ่มฟื้นตัว มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น รับอานิสงส์จากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ 14.55 ล้านคน ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 145,000 ล้านบาท จะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 4%