จากกรณีที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุก่อนหน้านี้ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษี โดยหนึ่งในนั้นคือการพิจารณาขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% หลังจากกระทรวงการคลังพบว่าของไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 15-25% เพื่อเพิ่มรายได้เข้ากองกลาง นำไปช่วยเหลือกลุ่มรายได้น้อยผ่านมาตรการด้านสาธารณสุข การศึกษา และที่อยู่อาศัย
ล่าสุดวันนี้ (6ธ.ค.67) ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somchai Jitsuchon ถึงข้อเสนอปรับรายละเอียดมาตรการภาษีจำนวน 4 ข้อว่า
1. ภาษี VAT ควรขึ้น แต่ค่อยเป็นค่อยไป เช่นขึ้น 1% ก่อนแล้วหาจังหวะในอนาคตขึ้นทีละ 1% แต่ไม่ประกาศล่วงหน้า เพราะอาจทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) ได้ แล้วไปจบที่ 10% ภายใน 5 ปี
2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ควรเป็น flat rate อย่างที่เสนอ แม้จะมีข้อดีบางข้อ เช่นคำนวณง่าย ทำให้คนอยากทำงานมีรายได้สูง ๆ โดยไม่ต้องกลัวอัตราภาษีสูงตามไปด้วย แต่ข้อเสียมากกว่าคือไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
3. ภาษีเงินนิติบุคคล ถ้าจะลดเหลือ 15% ก็ควรยกเลิกสิทธิประโยชน์ BOI ไปด้วย จะได้แฟร์และดึงดูดการลงทุนอย่างทั่วถึงแทนที่จะเป็นบางอุตสาหกรรมที่ก็ไม่รู้ว่าให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยเท่าไรกันแน่ ใช้มาตรการอื่นดึงดูดแทนดีกว่า เช่นพัฒนาทักษะแรงงานไทย ปรับเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ป้องกันการเรียกใต้โต๊ะของ ขรก. สารพัดสี
4. สำคัญคืออย่าลืมเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน เช่น capital gain, windfall tax ด้วยนะจ๊ะ (กินยาไรไปถึงลืมได้อ่ะ)
"ข้อเสนอเรื่องภาษีของ รมต. คลัง ในภาพรวมนั้นจำเป็นเพราะรายได้ภาษีไทยต่ำไปมาก แต่ในรายละเอียดต้องปรับอีกเยอะ ที่สำคัญเหมือนท่านจะลืมแหล่งรายได้ภาษีที่สำคัญและควรจัดเก็บเพิ่มขึ้นอย่างมากคือภาษีจากฐานทรัพย์สิน ไม่ทราบทำไมถึง 'ลืม' ได้นะครับ"
ที่มา : Facebook Somchai Jitsuchon