ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% โจทย์สำคัญของการปฏิรูปภาษีไทย

04 ธ.ค. 2567 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 11:05 น.
694

ประเทศไทยเตรียมปรับโครงสร้างภาษี กระทรวงการคลังส่งสัญญาณเพิ่ม VAT เพื่อเพิ่มรายได้สำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาว นักวิชาการ TDRI ชี้ การปรับขึ้น VAT เป็นสิ่งจำเป็น แต่ผลกระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อยยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ

ประเทศไทยกำลังเผชิญจุดเปลี่ยนสำคัญในระบบภาษี นายพิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแนวทางปรับโครงสร้างภาษี ด้วยการส่งสัญญาณปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากอัตรา 7% ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานสากลอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มี VAT ในช่วง 15-25%

นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาว แต่ขณะเดียวกันก็สร้างคำถามถึงผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มรายได้น้อย และความสมดุลระหว่างการบริหารรายได้กับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน TDRI ชี้ว่า การปรับขึ้น VAT เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากประเทศไทยต้องการรายได้เพิ่มเติมสำหรับการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อครัวเรือนรายได้น้อยยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพื่อบรรเทาปัญหานี้ แนวคิดการตั้ง "กองทุนช่วยเหลือ" สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจึงถูกเสนอเป็นนวัตกรรมใหม่ 

กองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก VAT น่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนตัวมองการช่วยลดผลกระทบของการขึ้น VAT ต่อผู้มีรายได้น้อยสามารถทำได้ในหลากหลายเครื่องมือ เช่น การเติมเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ/เบี้ยคนพิการ หรือ การแยกสินค้าให้สินค้าที่จำเป็นไม่ต้องขึ้น VAT หรือขึ้นน้อยกว่าสินค้าฟุ่มเฟื่อย เป็นต้น

 

ในเวทีโลก ญี่ปุ่นเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยการปรับขึ้น VAT ในประเทศนี้ถูกออกแบบให้เป็นขั้นตอน และติดตามผลกระทบต่อการบริโภคอย่างใกล้ชิด การดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับไทย

ประเทศอื่นๆ VAT สูงกว่าไทย จึงพออนุมานได้ว่าการขึ้น VAT ของไทยน่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่กรณีศึกษาเช่น ของญี่ปุ่นที่เคยปรับขึ้นก็ให้ข้อเสนอแนะว่าควรจะปรับขึ้นแบบเป็นระยะๆ แล้วดูผลกระทบต่อภาคการบริโภค ถ้าไม่กระทบต่อภาคการบริโภคก็ขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้าง VAT ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ แต่เป็นเรื่องของการบริหารทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความสามารถในการแข่งขันเท่าไหร่ คิดว่าภาครัฐไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเท่าใดนัก น่าจะมองว่าภาครัฐกำหนด VAT ต่ำกว่าปกติมานานจนติดเป็นนิสัย ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วควรจะคิด VAT สูงมานานเท่าๆ กับประเทศอื่นๆ ตั้งนานมาแล้ว

นักวิชาการยังชี้ว่าการขึ้น VAT อาจทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยกระตุ้นให้ประชาชนลดการบริโภคฟุ่มเฟือยและเพิ่มการออมเพื่ออนาคต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

VAT จะทำให้การบริโภคเติบโตช้าลงกว่า กรณีที่ VAT ต่ำกว่า ผู้บริโภคไทยควรจะให้ความสำคัญกับอนาคตมากกว่านี้ นั่นคือ ในรายได้ 100 บาทควรจะต้องมีการเก็บออมเยอะ แต่ที่ผ่านมา บริโภคเยอะไป ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นบทเรียนที่ดีในการปรับพฤติกรรมที่ให้ความสำคัญกับอนาคตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือการปรับขึ้นค่าจ้างที่เร็วเกินไป อาจสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อระบบเศรษฐกิจ

แน่นอนว่า VAT ที่สูง ผู้ผลิตจะผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มจะสูง อย่างไรก็ดี หากค่าจ้างมีการปรับตัวอย่างเหมาะสม (ไม่เพิ่มเร็วจนเกินไป) และภาครัฐมีการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น หรือคิด VAT กับสินค้าที่จำเป็นไม่เท่าสินค้าอื่นๆ ก็จะช่วยลดผลกระทบได้ดี

การปรับขึ้น VAT ยังช่วยให้รัฐสามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศ แต่คำถามสำคัญคือเงินที่เพิ่มขึ้นจะถูกนำไปใช้ในทางใด หากใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในทางกลับกัน หากการใช้จ่ายขาดการวางแผนที่รัดกุม อาจส่งผลเสียในระยะยาว

การขึ้น VAT ทำให้ภาครัฐมีรายได้มากขึ้น และสามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ แต่จะเกิดประโยชน์ต่อความสามารถในการแข่งขันหรือไม่ ต้องรอดูว่าได้รายได้มาแล้วจะเอาไปทำอะไร จะเกิดประโยชน์ไหม และในด้านใด

ดร.นณริฏ ระบุว่า การปฏิรูปภาษีที่สำคัญ มีหลายข้อเสนอมาก ที่สำคัญๆ เช่น ต้องดึงเอาคนที่ควรจะเสียภาษีมาเสียภาษี ขยายฐานภาษี เพิ่มภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปฏิรูปกลไก BOI เป็นต้น