เจาะลึกแผนปฏิรูปภาษีไทย: ขึ้น VAT ลดภาษีนิติบุคคล ขยายฐานบุคคลธรรมดา

04 ธ.ค. 2567 | 15:44 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 16:57 น.
1.5 k

เปิดแนวคิดกระทรวงการคลังปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ พร้อมเหตุผลการปรับขึ้น VAT รับมือสังคมผู้สูงวัย ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% ตามมาตรฐาน OECD และขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

กรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งภาษีที่มีส่วนสำคัญคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value-added Tax : VAT) และภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะต้องปรับสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดในการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ ทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ  VAT การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และภาษีกิจการ พาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce)

เบื้องหลังแนวคิดขึ้น VAT

สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ  VAT มีสาเหตุสำคัญมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยเริ่มส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังอย่างมาก โดยก่อนหน้านี้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ PIERได้นำเสนอบทวิเคราะห์ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยพบว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า ภาครัฐจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นคิดเป็น 2.1% ของ GDP ขณะที่รายรับมีแนวโน้มลดลง 0.2% ของ GDP ส่งผลให้ดุลการคลังขั้นต้นขาดดุลเพิ่มขึ้นถึง 2.3% ต่อ GDP

ภาพประกอบข่าว VAT

สาเหตุสำคัญมาจากการที่ประชากรสูงอายุของไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 15% ในปี 2565 เป็น 30% ในปี 2589 ส่งผลให้รายจ่ายภาครัฐด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จะเติบโตถึง 84% ในอีก 40 ปีข้างหน้า ขณะที่รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะลดลง 21% เนื่องจากสัดส่วนประชากรวัยแรงงานที่ลดลง

ขึ้น VAT 1% ฉุด GDP ลบ 0.25-0.35%

แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวได้คือการปรับเพิ่ม VAT ซึ่งกระทรวงการคลังได้ศึกษาแล้วพบว่า หากมีการปรับขึ้น VAT ในอัตรา 1% จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง 0.25-0.35% หรือเฉลี่ย 0.3% ต่อปี ขณะที่รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านบาทต่อปี

กระทรวงการคลังประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในระยะสั้นก่อนการปรับขึ้น VAT จะทำให้การซื้อขายสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น แต่หลังจากที่มีการปรับขึ้นแล้วการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนจะลดลงจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น แต่จะก่อให้เกิดผลดีช่วยลดการนำเข้าสินค้าฟุ้มเฟือย ส่งผลบวกในระยาวต่อดุลการค้า

ไทยจัดเก็บ VAT ต่ำกว่าประเทศอาเซียน

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบอัตราภาษีในกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศสำคัญทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2557) พบประเด็นที่น่าสนใจ 3 ด้าน

ประการแรก ไทยจัดเก็บ VAT ในอัตรา 7% ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนส่วนใหญ่ โดยเวียดนาม กัมพูชา และลาว จัดเก็บในอัตรา 10% ฟิลิปปินส์ 12% อินโดนีเซีย 11% และมีแผนเพิ่มเป็น 12% ในปี 2568 ขณะที่สิงคโปร์เก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) ที่ 9% มาเลเซียแยกจัดเก็บเป็นภาษีการขาย 10% และภาษีบริการ 8% มีเพียงเมียนมาที่จัดเก็บต่ำกว่าที่ 5% ส่วนบรูไนและฮ่องกงไม่มีการจัดเก็บ VAT และ GST

ประการที่สอง เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว อัตรา VAT ของไทยยังห่างจากมาตรฐานสากลค่อนข้างมาก โดยสหราชอาณาจักรจัดเก็บที่ 20% เยอรมนี 19% ญี่ปุ่น 10% ส่วนจีนใช้อัตราแตกต่างกันตามประเภทสินค้าและบริการที่ 13% 9% และ 6%

ประการที่สาม ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่กำหนดเพดาน VAT ไว้ที่ 10% แม้จะมีการปรับขึ้นจนถึงเพดาน ไทยก็ยังคงมีอัตรา VAT ที่แข่งขันได้ในภูมิภาค เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่จัดเก็บในอัตรา 10-12%

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับขึ้น VAT จำเป็นต้องคำนึงถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมและผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงต้องพิจารณาถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

จากการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานต่างๆมีความเห็นสอดคล้องกันว่าหากจะปรับขึ้น VAT ต้องปรับขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจของไทยขยาย 5% ต่อปี และเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% จะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการปรับขึ้น

ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% ตามมาตรฐาน OECD

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะลดลงเหลือ 15% นั้นเป็นการปรับขึ้นให้สอดคล้องกับกฎกติกาของโลก ตามกฎขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ได้ออกข้อกำหนดใหม่ภายใต้ OECD Pillar 2 กำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำที่ 15% สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท

มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อยุติการแข่งขันลดอัตราภาษีระหว่างประเทศ หรือ Race to Bottom ที่ดำเนินมายาวนานกว่า 40 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของฐานภาษีและรายได้ของรัฐบาลทั่วโลก

ภาพประกอบข่าวปฎิรูปภาษี

ภายใต้ข้อกำหนดใหม่นี้ บริษัทข้ามชาติจะต้องจ่ายภาษีไม่ต่ำกว่า 15% ในทุกประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจ หากพบว่ามีการจ่ายภาษีต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำในประเทศใด บริษัทจะต้องจ่ายภาษีส่วนต่าง หรือ Top-up Tax ให้กับประเทศที่บริษัทแม่ตั้งอยู่

ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียมและการเพิ่มความสามารถการแข่งขัน กระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีเพดานสูงสุดที่ 20 % ลงมาเหลือ 15% ซึ่งจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว โดยทางกรมสรรพากรจะเป็นเจ้าภาพหลัก

ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คนไทยอายุ 16 ปี ยื่นแบบภาษี

ส่วนการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แนวคิดเบื้องต้นคือจะกำหนดให้คนไทยทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลรายได้ของประชาชนที่แท้จริง หากใครมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี และอาจได้รับสวัสดิการจากรัฐเพิ่มเติมในรูปแบบ Negative Income Tax (NIT) ส่วนคนที่มีรายถึงเกณฑ์ ก็จะต้องเสียภาษีกับกรมสรรพากร

ปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบภาษี 11 ล้านคน ขณะที่ผู้เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนเท่านั้น เพราะผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 28,000 บาทต่อเดือนก็ไม่ต้องเสียภาษี ต่อไปหากมีการกำหนดให้คนไทยทุกคนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี จะทำให้คนเข้าสู่ระบบฐานภาษีและจ่ายภาษีมากขึ้น