จับตานโยบายรัฐบาลแพทองธาร ถมทะเล ! ระวังคนค้านกระทบระบบนิเวศน์

09 ก.ย. 2567 | 16:29 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2567 | 16:44 น.

จับตานโยบายรัฐบาลแพทองธาร ถมทะเล ! ระวังคนค้านกระทบระบบนิเวศน์ ตั้งแต่วิชั่น ทักษิณ ยัน ปลอดประสพ สุรัสวดี ลั่นนโยบายเพื่อไทยศึกษามานานแล้ว ถมทะเล9เกาะสร้างเมืองใหม่เริ่มจากบางขุนเทียน

 

โครงการขนาดใหญ่ในสมัยรัฐบาลแพทองธาร สานต่อจากรัฐบาลเศรษฐาเป็นส่วนใหญ่แต่มีบางโครงการเมื่อพูดถึงแล้วอาจถึงขั้นอาจลุกเป็นไฟ  นั้นคือโครงการถมทะเล

ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการแสดงวิสัยทัศน์ ของดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บนเวที  Dinner Talk Vision for Thailand 2024 จัดโดยเนชั่น เมื่อวันที่22สิงหาคมที่ผ่านมาที่ระบุว่า

“ผมพูดไว้นานแล้วแต่ว่ายังไม่ได้ทําก็คือการถมทะเล บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และเมืองปากน้ำ  เพื่อที่จะ ได้พื้นที่ ขยายความแออัดของกรุงเทพฯส่วนหนึ่ง และสามารถให้เป็นเมืองสีเขียวและเป็นเมืองใหม่ ให้เฉพาะรถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้นมีรถไฟเชื่อม แล้วก็ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯได้เพราะกรุงเทพฯน้ำทะเลสูงขึ้นทุกวันน้ำอาจจะท่วมได้เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง เตรียมการเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯตั้งแต่วันนี้ ซึ่งการถมทะเลจะได้พื้นที่มากขึ้นได้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในเมือง"

 

วิสัยทัศน์ดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลแพทองธาร  ที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่12กันยายน ที่ระบุสั้นๆถึงแผนป้องกันน้ำท่วม ช่วยเหลือประชาชน

ต่อเรื่องนี้นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การป้องกันพื้นที่กรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยศึกษาไว้นานแล้ว

เนื่องจากโลกร้อนมีความรุนแรง สำหรับทางออกคือการถมทะเลเบื้องต้นมี9เกาะแต่ละเกาะมีเขื่อนแนวกั้นน้ำมีประตูปิดเปิดได้ โดยให้เอกชนสัมปทาน99ปี เริ่มชายทะเลบางขุนเทียน

  • ปัจจุบันบางขุนเทียนถูกกำหนดพื้นที่ “ขาวทะแยงเขียว" หรือที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่รับน้ำ ไม่สนับสนุนให้พัฒนาบ้านจัดสรรแต่หากพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร  ต้องไม่น้อยกว่า1000ตารางวาหรือ2.5ไร่
  • กทม.มีพื้นที่เดียวที่ติดทะเลคือบางขุนเทียน
  • พื้นที่บริเวณนี้ ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ  
  • หากจะดำเนินการถมทะเลและพัฒนาเป็นเมืองต้องแก้ไขผังเมืองรองรับ
  • ที่ดินโดยรวมเป็นของเอกชนดังนั้นต้องจัดรูปที่ดินบวกกับการแก้ไขผังเมือง และหากพัฒนาหนาแน่นเกินไปจะไม่สามารถทำได้ ต้องปรับสีของผังเมืองให้เป็นไปที่ละขั้น  เช่นพื้นที่สีขาวทะแยงเขียนเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่ข้ามขั้นเป็นพื้นที่สีแดง
  • ต้องคำนึงถึงระบบระบายน้ำ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือน้ำท่วมปี2554 น้ำที่เข้ามา ในแม่น้ำเจ้าพระยาถูกระบายไปยังแม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองรังสิต คลองหกวา ไปท่าจีนผ่านฉะเชิงเทรา  ทิศตะวันตกผ่านสมุทรสาคร แม้แต่แม่น้ำเจ้าพระยา กว่าจะระบายลงได้ต้องไปสมุทรปราการ ซึ่งกทม. ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้
  • หากถมทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งต้อง มีระบบระบายน้ำที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงนอกจากนี้มีภาคเอกชนมองว่า การถมทะเลต้องรอบคอบเพราะเกรงว่าจะกระทบเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ไม่ว่าจะเป็นถามทะเลที่ไหนก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงประมงชายฝั่งอีกทั้งชุมชนที่อยู่ดั่งเดิม