กลุ่มพริมา คว้างานถมทะเลแหลมฉบัง 2.13 หมื่นล.

29 ก.ค. 2563 | 17:39 น.
1.5 k

"พริมา มารีน" และ "นทลิน" ชนะประมูลก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 งานถมทะเล มูลค่า 21,320 ล้านบาท เตรียมเซ็นต์กับการท่าเรือภายใน 1 เดือน ก่อนเดินหน้าก่อสร้างปลายไตรมาส 3 โดยสร้างแล้วเสร็จภายใน 4 ปี

29 ก.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในวันนี้ มีมติรับรองผลการประมูลด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในงานส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล เรียบร้อยแล้ว

 

โดยกลุ่มที่ชนะการประมูลคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า CNNC  ซึ่งประกอบด้วย  บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด(บริษัทลูกของ บมจ. พริมา มารีน)  บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง  คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) โดยเสนอราคา 21,320 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่ทางการท่าเรือฯตั้งไว้ที่ 21,957 ล้านบาท  โดยในการประมูลครั้งนี้มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เข้าร่วมประมูลอีกหลายกลุ่มอาทิ กลุ่มของบริษัท อิตัลไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กับ บริษัท CHINA HARBOUR กลุ่มของ บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) กับ บริษัท DEME GROUP

 

หลังจากนี้ทางการท่าเรือฯจะดำเนินการเซ็นสัญญากับกลุ่ม CNNC ภายในเวลา 1 เดือน และคาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ภายในปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปีนับจากวันที่เซ็นสัญญากับการท่าเรือฯ

 

ทั้งนี้ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันมีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีนโยบายเร่งพัฒนาโครงการ ทลฉ. ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้าน ทีอียู.ต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียู.ต่อปี โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30

 

อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและการบริหารจัดการของ ทลฉ. ระยะที่ 3 ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในการเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้มีความสามารถในการรองรับการขนถ่ายด้วยเครื่องมือขนส่งสินค้าประเภทตู้สินค้าที่ทันสมัย

 

พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับสภาพสิ่งแวดล้อม (Green Port) เพื่อยกระดับประเทศเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค พัฒนาระบบการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ได้มาตรฐาน โดยใช้ระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) มาสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงการเป็นประตูการค้า (Gateway) สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศ