ดันสุดตัว "แลนด์บริดจ์"  จัดโซนนิ่ง 4 จ. SEC ถมทะเลสร้างท่าเรือ 2.5หมื่นไร่

24 ม.ค. 2567 | 11:38 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 12:26 น.
2.0 k

ครม.สัญจร ระนอง จุดพลุ "แลนด์บริดจ์" เศรษฐา ลงพื้นที่เช็คอินโครงการ ประกาศดันเป็นเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่รอบ 20 ปี สั่งดูผลกระทบสิ่งแวดล้อม เดินหน้าลุยโรดโชว์ดูดนักลงทุนทั่วโลก ‘คมนาคม’  รวมปัญหาเวนคืน ยกเครื่องกม.SEC ก่อนประมูล ชุมพรอ่วมถมทะเล สร้างท่าเรือ 2.5 หมื่นไร่

 

โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนอง มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท ถูกจุดพลุอย่างเป็นทางการ หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ยกคณะลงพื้นที่ไปยังจุดที่จะทำโครงการเป็นครั้งแรก บริเวณ อุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ในช่วงการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ครั้งที่สองของรัฐบาล

 

 

การเดินทางมาครั้งนี้มีนัยสำคัญ เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่ารัฐบาลเอาจริงกับการเดินเครื่องเมกกะโปรเจ็กต์ครั้งใหญ่ โดยนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงเดินทางลงพื้นที่ว่า โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ ในรอบ 20-30 ปีของประเทศไทย เพื่อเชื่อมต่อระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยเข้าด้วยกัน เพื่อร่นระยะทางการขนถ่ายสินค้าที่ผ่านช่องแคบมะละกา นับเป็นโครงการสำคัญ ที่จะนำความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ทั้งการขนถ่ายสินค้า การเป็นแรงจูงใจให้บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทมาสร้างแหล่งผลิตและยอมรับว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พร้อมฟังเสียงประชาชนทุกคน ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

นายกฯรับเรื่องร้องเรียน

 อย่างไรก็ตามในช่วงของการประชุม ครม.สัญจร เสร็จสิ้น นายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงโครงการยักษ์แลนด์บริดจ์ว่า จากการลงพื้นที่ท่าเรือที่จะมีการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ จังหวัดระนอง ซึ่ง ได้สั่งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโครงการแลนด์บริดจ์ ภายหลังรับหนังสือร้องเรียนจากฝ่ายที่ไม่เห็นชอบเพื่อรับไปดำเนินการต่อไป

  ด้าน นายชัย วัชรรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.สัญจรว่าการขับเคลื่อนโครงการตอนนี้ อยู่ในช่วงของการโรดโชว์โครงการ โดยรัฐบาลจะเดินหน้าเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกต่อไป หลังจากนายกรัฐมนตรีได้มีการโรดโชว์ เชิญชวนนักลงทุนไปแล้ว 3 เวที คือ APEC และประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งในเวทีการประชุม เวิร์ลอีโคโนมิคส์ฟอรั่ม หรือ WEF ที่ดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ ปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในชั้นตอนนำเสนอข้อมูลที่มีการศึกษาไว้แล้วให้กับนักลงทุนและทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย โดยรัฐบาลมีแผนการเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ทั้งด้านการบริหารท่าเรือ การบริหารระบบโลจิสติกส์ มาร่วมลงทุนต่อเนื่อง

 ขณะที่ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกระทบต่อพื้นที่ลุ่มนํ้าชั้น 1A นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม จะทำการศึกษาไว้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลจะดำเนินการจริง ต้องศึกษาเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยรัฐบาลยืนยันว่าในส่วนของผลกระทบต่าง ๆ นั้น แม้มีประโยชน์มหาศาลด้านเศรษฐกิจ แต่หากมีกระทบใด ๆ ต่อประชาชน แม้แต่เป็นเพียงกลุ่มน้อย ต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด

ลุยประมูลเฟสแรก

 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการ แลนด์บริดจ์ ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้ดำเนินการศึกษาจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา โดยการลงทุนเบื้องต้นในระยะที่ 1 มีมูลค่าการลงทุนกว่า 522,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีแผนงานก่อสร้างในปี 2568 และจะสามารถเปิดให้บริการในระยะแรกได้ในปี 2573

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรีในกรณีที่มีชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์นั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สนข.ต้องรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ที่คัดค้านเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจริง เนื่องจากโครงการต้องเวนคืนที่ดินผ่านพื้นที่ชาวบ้าน รวมทั้งชาวประมงพื้นบ้านที่อาจจะมีผลกระทบบางส่วนเล็กน้อยจากการก่อสร้างท่าเรือ ขณะนี้มีชาวบ้านมายื่นหนังสือถึงนายกฯในเรื่องนี้แล้ว

 “เรื่องนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องรับไปดำเนินการเพื่อหาทางแก้ไข ส่วนภาครัฐจะมีการเยียวยาและจัดหาที่อยู่ใหม่ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯหรือไม่นั้น เบื้องต้นมีมาตรการและแนวทางที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าความเป็นอยู่ของเขาต้องเหมือนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องดูข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง คาดว่าการจัดหาที่อยู่ใหม่นั้นจะเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์”

เดินหน้าโรดโชว์

 จากการโรดโชว์เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติร่วมทุนในโครงการฯที่ผ่านมา พบว่ามีต่างชาติหลายประเทศให้ความสนใจโครงการฯ เช่น อินเดีย, ดูไบเวิล์ดเป็นบริษัทที่บริหารท่าเรือและเรือขนส่งตู้สินค้า ซึ่งมีแผนเดินทางมาไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่สนใจ อาทิ สิงคโปร์, ญี่ปุ่น ฯลฯ

   ทั้งนี้โครงการฯในปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและโรดโชว์ในต่างประเทศ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 และยังมีแผนเดินทางโรดโชว์หลายประเทศ เช่น เยอรมัน,ออสเตรเลีย ฯลฯ หลังจากนั้นสนข.จะต้องนำข้อมูลและความคิดเห็นทั้งหมดมาสรุป ซึ่งเป็นการปรับโมเดลรูปแบบการลงทุนเพื่อให้สอดรับกับ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ( SEC ) รวมทั้งการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในส่วนของท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง โดยตั้งเป้าดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2-3 ของปี 2567

    ขณะการศึกษาโครงการฯในส่วนของมอเตอร์เวย์นั้น เบื้องต้นกรมทางหลวง (ทล.) จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและจัดทำรายงานอีไอเอ ขณะนี้ทราบว่าทางกรมฯอยู่ระหว่างรอรับจัดสรรงบประมาณปี 2567 ที่ยังมีความล่าช้า ด้านทางรถไฟ ปัจจุบันรฟท.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่ศึกษาแล้ว คาดว่าจะเสนอกระทรวงและครม.อนุมัติการเปิดประมูลโครงการได้ภายในปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569

  “หากจะเปิดประมูลโครงการฯนั้นจำเป็นต้องรอให้พ.ร.บ. SEC ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯก่อน เพราะจะเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้โครงการฯสำเร็จได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ คาดว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้ หากเร่งรัดจะใช้ระยะเวลาการพิจารณาไม่นาน”

จัดโซนนิ่ง -วางแนวพัฒนา

  ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯเห็นควรให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กำหนดโซนนิ่งในพื้นที่ 4จังหวัดภาคใต้ของโครงการแลนด์บริดจ์ ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร, ระนอง ,สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เนื่องจากพื้นที่มีข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อมการบุกรุกที่ดิน การเกิดพื้นที่ทับซ้อน และการจัดระเบียบบริหารจัดการยังไม่ทันต่อการลงทุน จึงควรเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลอย่างเต็มที่

   ที่ผ่านมาการพัฒนา มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 เห็นชอบกรอบแนวคิดในการพัฒนา SEC ในจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยให้เร่งผลักดันแผนงานเบื้องต้น ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือระนอง,โครงการระบบรถไฟทางคู่ และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาสของ 4 จังหวัด ในพื้นที่ SEC

ทั้งนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.การพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงอ่าวไทยและอันดามัน การท่องเที่ยวแบบผสมผสานเชิงสุขภาพและวิถีชุมชน 2.การพัฒนา SEC ให้เป็นประตูการค้าและโลจิสติกส์ของภาคใต้ 3.การพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง พัฒนากระบวนการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และ 4.การส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ วัฒนธรรม การพัฒนาเมืองน่าอยู่

ชู3โมเดล ตั้งนิคมฯ

  ขณะเดียวกันโครงการฯได้มีศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง,ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าวและหาทีมเข้ามาสนับสนุนโครงการ คาดว่าจะได้พื้นที่ศักยภาพสำหรับการจัดตั้งนิคมฯ เบื้องต้นในเดือนเมษายน 2567 โดยกรอบการศึกษามีเรื่องประเภทของอุตสาหกรรม ความต้องการของตลาด วัตถุดิบที่มาสนับสนุนเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งรูปแบบการตั้งนิคมฯ มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ลักษณะการเวนคืน 2. ซื้อที่ดิน และ 3. ร่วมลงทุนกับเอกชน

  สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง วงเงินลงทุน 1,001,206.47 ล้านบาท โดยเป็นการพัฒนาท่าเรือนํ้าลึกสองฝั่งทะเลและมีโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ภายใต้แนวคิด One Port Two Side และการพัฒนาพื้นที่หลังท่าด้วยอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและกิจกรรมเชิงพาณิชย์โดยได้คัดเลือกจุดก่อสร้างท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง คือ บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางนํ้าจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และแหลมอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

ถมทะเลสร้างท่าเรือ

  ส่วนรูปแบบการลงทุนของโครงการแลนด์บริดจ์ที่เหมาะสม คือ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) แบ่งเป็นรัฐดำเนินการเวนคืนที่ดิน 6,212 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนโครงการ 994,994.47 ล้านบาท โดยให้สิทธิเอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี ซึ่งกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ,ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ

  ทั้งนี้โครงการฯมีการพัฒนา 4 ระยะ โดยเมื่อพัฒนาครบ 4 ระยะแล้วจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ฝั่งละ 20 ล้านทีอียู (ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดยาว 20 ฟุต) สำหรับท่าเรือฝั่งชุมพรจะมีพื้นที่ถมทะเลประมาณ 5,808 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ท่าเทียบเรือ 4,788 ไร่ และพื้นที่พัฒนาอเนกประสงค์ 1,020 ไร่ ส่วนท่าเรือฝั่งระนองจะมีพื้นที่ถมทะเลประมาณ 6,975 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ท่าเทียบเรือ 5,633 ไร่ และพื้นที่อเนกประสงค์ 1,342 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 25,566ไร่

 นอกจากนี้เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยระยะแรกจะมี 4 ช่องจราจร ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 ทาง ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ (Double Stack) ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 กม. ทางระดับดิน ยาวประมาณ 39.5 กิโลเมตร สะพานยาวประมาณ 30 กิโลเมตร

เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศและพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและแก๊สธรรมชาติเพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการและชุมชนทั้ง 2 ฝั่งของโครงการสามารถเดินทางถึงกันด้วยสะพานลอยและทางลอดข้ามโครงการแลนด์บริดจ์

แผนพัฒนาแลนด์บริดจ์