ผ่าอาณาจักรพระราม 4 ในมือ 'เฟรเซอร์ส' 1.7 แสนล้านบาท

31 ก.ค. 2567 | 07:00 น.
2.5 k

ผ่าอาณาจักร เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ภายใต้ “ทีซีซี แอสเซ็ทส์” ของเจ้าสัวเจริญ หลังไทยเบฟ แลกหุ้นอสังหาฯ ดันพระราม 4 เรือธง มูลค่า 1.7 แสนล้าน วัน แบงค็อก จุดพลุ โกลบอลแลนด์มาร์ค จุดหมายปลายทางระดับโลก

การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” ภายใต้ร่มเงาของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่แจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ว่า บมจ.ไทยเบฟขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัท “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” (Frasers Property) ในสิงคโปร์ ให้กับบริษัท “ทีซีซี แอสเซ็ทส์” (TCC Assets) ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งในเครือของไทยเบฟเช่นกัน

ธุรกรรมครั้งนี้ มีเป้าหมายส่งเสริมสถานะของไทยเบฟให้มีความชัดเจนมากขึ้น ด้วยการถอนตัวออกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือมองว่าเป็นลักษณะการแลกหุ้นระหว่างกัน เพื่อจัดระเบียบธุรกิจให้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ในทางกลับกันจะส่งผลดีให้ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

เปิดอาณาจักรเฟรเซอร์ส

ย้อนไปก่อนหน้านี้ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิม บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในปี 2533 และในปี 2545 ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมให้เช่า และอาคารคลังสินค้าให้เช่าบริเวณพื้นที่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรม

ปี 2562 เปลี่ยนแปลงชื่อและชื่อย่อสัญลักษณ์การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็น บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ “FPT” และเริ่มต้นดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์อสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ โดย “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด ที่มี นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้พัฒนา และผู้บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5 ประเภท ประกอบด้วย เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์และโรงแรม ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอสังหาริมทรัพย์

“เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” ดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย

  2. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม

  3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรม โดยเฉพาะอาณาจักรมิกซ์ยูสบนถนนพระราม4 ที่ดินผืนใหญ่ของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัติย์ที่เจ้าสัวเจริญ เล็งเห็นถึงความสำคัญของถนนสายประวัติศาสตร์ จึงมุ่งมั่นยกระดับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่นี้ สู่โกลบอลแลนด์มาร์ค จุดหมายปลายทางระดับโลกที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.7 แสนล้านบาท

ผ่าอาณาจักรพระราม 4 ในมือ \'เฟรเซอร์ส\' 1.7 แสนล้านบาท  

ทั้งยังสร้างมาตรฐานใหม่ในทุกโครงการ สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและมุ่งมั่นก้าวสู่ระดับโลก ให้สอดคล้องกับ Sustainable Development Goals: SDGs พร้อมเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

วันแบงค็อกเรือธงอาณาจักรพระราม4

โครงการที่สร้างชื่อและเป็นธุรกิจเรือธง คือ วัน แบงค็อก (One Bangkok) โครงการอภิมหาโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส มูลค่า 1.2 แสนล้าน หัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระรามที่ 4 เนื้อที่108 ไร่ พื้นที่รวมเกือบ 2 ล้านตารางเมตรใหญ่ที่สุดในไทย ตั้งอยู่ทำเลศักยภาพของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จุดหมายปลายทางของการอยู่อาศัย การทำงานและการช้อปปิ้งหลอมรวมไว้ในที่เดียว

นายปณต เคยประเมินว่าในอนาคต จะเกิดการเปลี่ยนแกนศูนย์กลางธุรกิจครั้งสำคัญมาอยู่ที่พระราม 4 ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงเพราะสะท้อนได้จากการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่มักเกิดขึ้นบนถนนพรราม4 จำนวนมาก

นอกจากกลุ่มของเฟรเซอร์สฯแล้วยังมีคอนโดมิเนียมหรู อาคารสำนักงานชั้นนำ รวมถึงที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้คือ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” โครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 36,700 ล้านบาท จากการร่วมทุนระหว่าง “กลุ่มดุสิตธานี” และ “เซ็นทรัลพัฒนา” ตั้งอยู่หัวมุมถนนสีลมตัดกับพระรามที่ 4 และเมื่อยืนอยู่บนถนนพระรามที่4 จะเห็น ทั้งสองโครงการตั้งหันหน้าประชันอยู่เยื้องๆ กัน หากทั้งสองโครงการเปิดให้บริการเต็มพื้นที่เชื่อว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมาก

โครงการวันแบงค็อกเริ่มเปิดอย่างไม่เป็นทางการในบางส่วนของระยะแรกเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 และมีกำหนดเปิดให้บริการระยะแรกในเดือนตุลาคม 2567 คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการในปี 2570 ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญเติมเต็มโครงการ ของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ที่พัฒนามาก่อนหน้านี้ บนถนนพระราม 4

ขณะในส่วนของพื้นที่ สำนักงานและพื้นที่อยู่อาศัย ของวันแบงค็อกจะมีลูกค้าจับจองจำนวนมากโดยเฉพาะนักธุรกิจชาวต่างชาติรวมถึงพื้นที่ช้อปปิ้งที่แบรนด์ดังระดับโลกเข้ามาเป็นแม่เหล็กที่จะเปิดในเฟสแรกช่วงปลายปีนี้ และการเชื่อมโครงข่ายทางพิเศษบริเวณด่านลุมพินีรับการจราจร นอกจาก MRT สายสีนํ้าเงิน ขณะราคาที่ดินขยับไปที่กว่า 2 ล้านบาทต่อตารางวา

จากถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 มาที่ กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ฝั่งของถนนพระราม 4 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ที่เรียกเสียงฮือฮาหลังจากเปิดใช้พื้นที่ไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ เดอะ ปาร์ค (The PARQ) โครงการมิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท พื้นที่ขนาด 24 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 130,000 ตร.ม. ซึ่ง ตั้งอยู่ ต่อเนื่องกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอาคารสำนักงาน FYI Center อาคารสำนักงานแห่งแรกที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2559

สำหรับเดอะ ปาร์ค มีพื้นที่อาคารรวม 320,000 ตารางเมตร มีจุดเด่นออกแบบอาคารสำนักงานด้วยขนาดพื้นที่ต่อชั้นใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และปราศจากเสา มีพื้นที่มากกว่า 7,000 ตารางเมตรถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่ง มีสวนทอดยาวกว่า 200 เมตร และยังมีสวนลอยฟ้ากลางแจ้ง ขนาด 3,400 ตารางเมตร มีพื้นที่ให้เช่า 71,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำนักงานระดับพรีเมียม มีขนาดของยูนิตหลากหลายตั้งแต่ 2,400 ถึง 5,100 ตารางเมตร ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และศูนย์อาหารระดับคุณภาพ บนพื้นที่ขนาดรวม 11,000 ตารางเมตร

 

พลิกโฉมศูนย์สิริกิติ์ ดึงนอีเว้นท์ระดับโลก

พื้นที่ติดกัน เป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โฉมใหม่ ใช้งบกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท บนที่ดินที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ เพิ่มพื้นที่จัดงานอีเว้นท์ระดับโลกและเป็นแลนด์มาร์คสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ เป็นสถานที่จัดงานอเนกประสงค์ ที่เหมาะกับการจัดงานทุกประเภทบนเนื้อที่ 53 ไร่ พื้นที่ใช้สอยกว่า 300,000 ตารางเมตร และพื้นที่จัดงานกว่า 78,500 ตารางเมตร มีฮอลล์ขนาดใหญ่ 8 ห้อง เชื่อมเข้าพื้นที่ของศูนย์ฯแบบไร้รอยต่อด้วยMRT สายสีนํ้าเงิน นอกจากนี้พื้นที่ติดกันยังมีอาคารไทยเบฟ อาคารสำนักงานเกรดพรีเมียมขนาดใหญ่ให้เช่าบริเวณเดียวกัน

ขณะอาคารที่สร้างความภูมิใจให้กับ เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเดอะปาร์ค คือ อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (FYI Center) เป็นอาคารแรกบนที่ดินสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่จุดประกายการพัฒนาบนถนนพระราม4 ให้เกิดการขยายตัวของแหล่งงานและโครงการมิกซ์ยูสของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ที่เกิดขึ้นตามมา

ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำเช่าเต็มพื้นที่ เนื่องจากเป็นอาคารสำนักงานจุดประกายความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ มูลค่าโครงการกว่า 5,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 9 ไร่ ตั้งอยู่บนหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก (ไผ่สิงโต) และสามารถเดินทางมายังตัวอาคารได้ด้วยMRTสายสีนํ้าเงิน

 

สามย่านมิตรทาวน์- สีลมเอจบูมทำเลทอง

ตั้งอยู่บนถนนพระราม 4 เช่นเดียวกัน แต่อยู่ทำเลหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนพญาไท สามย่านมิตรทาวน์ โครงการมิกซ์ยูส บนที่ดินสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือPMCU มูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาทมีทั้งพื้นที่ค้าปลีก ที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน รวม 222,000 ตารางเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการ เมื่อปี2563 ที่เป็นไฮไลต์คือการพัฒนาทางเชื่อมเป็นอุโมงค์จากMRTสถานีสามย่านถึงพื้นที่โครงการ ช่วยเพิ่มศักยภาพการพัฒนาและเป็นแม่เหล็กดึงโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นโดยรอบ

อีกโครงการ ที่น่าจับตาและเปิดให้บริการไปไม่นาน “สีลมเอจ” ทำเล หัวมุมถนนสีลมตัดกับถนนพระราม 4 ด้านโครงการมิกซ์ยูสมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท ตั้งอยู่บริเวณ ถือเป็น Extremely Convenient Location การต่อกับรถไฟฟ้า BTS สถานีศาลาแดง และ MRT สถานีสีลม ซึ่งแต่ละวันมีผู้คน เดินทางหมุนเวียนในวันธรรมดา 700,000 คนต่อวัน และในวันหยุด 500,000 คนต่อวัน ภายในระยะทางรัศมี 1.5 กิโลเมตรจากศูนย์การค้าฯ 

 

พระราม 4 “โกลบอล แลนด์มาร์ค”

จากการประเมินของบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าจุดเด่นของย่านพระราม 4 ถือเป็นย่านที่เชื่อมต่อระหว่างย่านธุรกิจที่สำคัญหลายย่าน ได้แก่ สาทร ลุมพินี และสุขุมวิท ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่อยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ และเป็นทำเลที่มีสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เช่น สวนเบญจกิติ สวนลุมพินี ซึ่งในอนาคตจะมี Sky Walk โครงการ Bangkok Super Connector เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

ส่งผลทำให้เป็นทำเลที่ได้รับความนิยมในการพัฒนาอาคารสำนักงานแห่งใหม่หลายอาคาร เช่น วัน แบงค็อก “สมาร์ทพอร์ต” บริเวณที่ดินท่าเรือกรุงเทพฯ ในย่านคลองเตย บนเนื้อที่ 2,353 ไร่ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาโครงการอื่นๆ ตลอดเส้นทางที่ตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดินบริเวณสถานีสามย่าน สีลม ลุมพินีและสถานีคลองเตย ซึ่งปัจจุบันก็มีโครงการใหม่เกิดขึ้นบริเวณนี้ มองว่าอนาคตย่านนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่ง โกลบอล แลนด์มาร์คอย่างแน่นอน