จับตา 5 ธุรกิจดาวรุ่ง ตอบโจทย์กำลังซื้อคนโสด 1.4 ล้านล้าน

05 มิ.ย. 2567 | 12:34 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มิ.ย. 2567 | 13:17 น.
1.9 k

แอล. ดับเบิลยู. เอส.ฯ คาดการณ์ 5 ธุรกิจบริการ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนโสด เปิดโอกาสสร้างธุรกิจรองรับกำลังซื้อในตลาดกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ต่อปี

จากรายงานของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ Euromonitor เผยว่า ปี 2566 มีจำนวนครัวเรือนที่อยู่เพียงลำพัง หรือ คนโสด จากทั่วโลกราว 400 ล้านครัวเรือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 3.3% ต่อปี  ในขณะที่ประเทศไทย เมื่อปี 2565 มีจำนวนครัวเรือนที่อยู่เพียงลำพังกว่า 7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 26% ของครัวเรือนในประเทศไทย เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปี 2555

โดยประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่อยู่เพียงลำพังสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โดยเป็นการใช้จ่ายในกลุ่มของสินค้า และบริการ คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย  1.4 ล้านล้านบาท ต่อปี

ทั้งนี้ ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างของ แอล. ดับเบิลยู. เอส.ฯ เมื่อเดือน พฤษภาคม ปี 2566 จากจำนวนผู้อยู่อาศัยใน โครงการอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 729 ตัวอย่าง  พบว่า มีสัดส่วนของคนที่อยู่เพียงลำพัง คิดเป็นสัดส่วน 45% สูงขึ้นจากปี 2563 ถึง 10% มีสถานภาพโสดมากกว่า 75% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 5% และมีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 20,000-40,000 บาท

ผลการสำรวจพฤติกรรมการอยู่อาศัยห้องชุดปี 2566 โดยทีมวิจัย LWS

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า จากแนวโน้มประชากรไทยที่อาศัยเพียงลำพังที่เพิ่มขึ้น และผลสำรวจของ แอล. ดับเบิลยู. เอส.ฯ จึงคาดการณ์ 5 ธุรกิจบริการที่น่าสนใจ และมีแนวโน้มของความต้องการที่เพิ่มขึ้นของคนโสด เป็นโอกาสที่จะพัฒนา และสร้างธุรกิจในกลุ่มเพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด ได้แก่ 

1. ธุรกิจการเช่าที่อยู่อาศัย โดยจากผลสำรวจพบว่าพฤติกรรมการอยู่อาศัยในอาคารชุดพักอาศัยของ แอล. ดับเบิลยู. เอส.ฯ พบว่า กลุ่มคนเช่าที่อยู่ตัวคนเดียวกว่า 30% มีความศักยภาพที่พร้อมจ่ายค่าเช่าตั้งแต่ 6,000-10,000 บาท/เดือน รวมไปถึงที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องตามต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น อาทิ ที่ดิน ค่าก่อสร้าง และภาระดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยสูงขึ้นเกินกว่ากำลังซื้อ

รวมถึงความต้องการของคนรุ่นใหม่และคนโสด ที่มีการทำงานอาชีพอิสระมากขึ้น พร้อมที่จะย้ายที่อยู่อาศัยใกล้กับที่ทำงาน และให้ความสำคัญกับการเดินทาง จึงนิยมที่จะเช่ามากกว่าซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเป็นภาระผูกพันในระยะยาว โดยรูปแบบการพัฒนาอสังหาฯ อย่างอาคารชุดที่พร้อมปล่อยเช่าจำเป็นต้องมีความปลอดภัย, ความสะดวกสบาย, Facility ที่ครบครัน

สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง รวมไปถึงบริการเสริมที่สามารถเรียกใช้บริการผ่าน Application เช่นบริการรถรับ-ส่งไปยังสถานีรถไฟฟ้าหรือจุดขึ้นรถสาธารณะ, แพ็กเกจบริการทำความสะอาด, บริการซ่อมแซม ตกแต่ง ต่อเติม หรือบริการขนย้ายสิ่งของ เป็นต้น

ผลการสำรวจพฤติกรรมการอยู่อาศัยห้องชุดปี 2566 โดยทีมวิจัย LWS

 

2. อาคารชุดที่เลี้ยงสัตว์ได้ โดยการสำรวจความสนใจซื้ออาคารชุดที่เลี้ยงสัตว์ได้ ของ แอล. ดับเบิลยู. เอส.ฯ  ในปี 2566 พบว่า 3 ใน 4 ของคนที่สนใจซื้ออาคารชุดเพื่อพักอาศัย พิจารณาจากโครงการที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้เป็นหลัก เพื่อในอนาคตหากต้องการเลี้ยงสัตว์จะได้ไม่เป็นปัญหาต่อการอยู่อาศัย ซึ่งสอดคล้องกับผลวิจัยของมหาลัยมหิดล (CMMU) และ The 1 Insight ระบุว่า

ปัจจุบันคนไทย สัดส่วนมากกว่า 65% เลี้ยงสัตว์เหมือนลูกหรือสมาชิกในครอบครัว หรือที่เรียกว่า Pet Parent ในขณะที่ 33% เลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงา และ 2% เลี้ยงสัตว์เพื่อการบำบัดเยียวยาจิตใจ ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ในที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาโครงการอาคารชุดที่สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้

จึงจำเป็นต้องมีบริการอำนวยความสะดวก ดังต่อไปนี้ บริการฝากดูแล พาสัตว์เลี้ยงเดินเล่น, บริการทำความสะอาดห้องชุดที่มีสัตว์เลี้ยง, บริการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในห้องชุด, ร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง, บริการสปา อาบน้ำ ตัดแต่งขนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

ผลวิจัยจากมหาลัยมหิดล (CMMU) และ The 1 Insight รวบรวมโดยทีมวิจัย LWS

3. ร้านอาหารสำหรับทานคนเดียว หลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย สิ่งที่เปลี่ยนไปและสังเกตได้ชัดเจนคือ การมีร้านอาหารสำหรับการรับประทานอาหารคนเดียวมากขึ้น เช่น ร้านอาหารที่ปรับรูปแบบให้เหมาะกับการนั่งคนเดียวโดยมีตุ๊กตาหมีนั่งเป็นเพื่อน, ร้านราเมงจำลองสถานที่สอบเพื่อการรับประทานอาหารคนเดียว หรือร้านปิ้งย่าง

ที่ลดขนาดโต๊ะให้เหมาะกับการรับประทานคนเดียว และจากการผลสำรวจเป็นที่สังเกตได้ว่า กลุ่มคนที่อาศัยอยู่คนเดียวกว่า 50% ชื่นชอบการทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร หรือกิจกรรมอื่นๆคนเดียว ทำให้ธุรกิจร้านอาหารสำหรับรับประทานคนเดียวเป็นที่คาดการณ์ว่าจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ผลสำรวจพฤติกรรมกลุ่มผู้อยู่อาศัยคนเดียว โดยทีมวิจัย LWS

4. การท่องเที่ยวคนเดียว ในปัจจุบันแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ จากผลสำรวจของสำนักวิจัยการตลาด จากประเทศเยอรมัน  Statista เผยว่าว่า ในปี 2566 นักท่องเที่ยว 60% มีแผนออกเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มคนโสด ที่ชื่นชอบการเดินทางคนเดียว โดยท่องเที่ยวเฉลี่ยมากกว่า 5 ครั้งต่อปี ที่สำคัญมีการตัดสินใจใช้จ่ายที่รวดเร็วแม้ไม่ใช่ช่วงโปรโมชั่น และในปัจจุบัน หลายแอปพลิเคชันซึ่งสนับสนุนการเที่ยวคนเดียวมีให้ได้ใใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

ผลสำรวจของสำนักวิจัยการตลาด Statista ปี 2566

5. บริการเพื่อนรับจ้าง ปัจจุบันธุรกิจเช่าเพื่อนเริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากของกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ โดยเฉพาะในประเทศจีน และญี่ปุ่น จากข้อมูลสำนักงานข่าวนิกเคอิ เอเชีย และ กรุงศรี กูรู รายงานว่า ธุรกิจที่สร้างรายได้จากการให้เช่าเวลาของตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จากสถิติที่เก็บโดยเจ้าของธุรกิจ พบว่ากลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการเช่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 70% เช่าเพื่อปรึกษาหรือหาคนรับฟังสิ่งที่เค้าพูด และอีก 30% เช่าเพื่อขอให้ช่วยงานบางอย่างหรือไปเที่ยว, กินข้าว ไปจนถึงพาไปโรงพยาบาลหรือฝากดูแลผู้สูงอายุ เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย มีบริการมาเติมเต็มในกลุ่มผู้สูงอายุอย่าง “บริการลูกรับจ้างหลานจำเป็น”ของบริษัท Joyride ที่คอยดูแล รับ-ส่งถึงที่หมาย และหากมองหาบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบคนโสด สามารถนำรูปแบบบริการที่มีในต่างประเทศมาปรับใช้ได้เช่นกัน

ข้อมูลจากสำนักงานข่าวนิกเคอิ เอเชีย และ กรุงศรี กูรู

“จากแนวโน้มดังกล่าว การพัฒนาธุรกิจบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเพียงลำพัง จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในทุกภาคธุรกิจ ที่จะพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบโจทย์กับลูกค้าในกลุ่มนี้ที่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ต้องพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และบริการที่สนองความต้องการของผู้ซื้อ และผู้เช่าที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวเสริม