ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และ รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า ในภาวะที่กำลังซื้อภายในประเทศของตลาดอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลง จึงเป็นข้อสังเกตถึง สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563-2565 มีสัดส่วนเฉลี่ยปีละประมาณ 10% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นมาเป็น 15.9% และล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2567 สัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติทั่วประเทศเฉลี่ย 16.7% โดยสัดส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ของต่างชาติ ในไตรมาสแรกปี 2563-2565 เฉลี่ยปีละประมาณ 17.5% และเพิ่มขึ้นเป็น 24.3% ในปี 2566 และในปี 2567 มีสัดส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศเฉลี่ย 28.6%
จากรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) พบว่าในไตรมาสแรก ปี 2567 จำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น รวมไปถึงมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ปี 2566 โดยเพิ่มขึ้น 4.3% และ 5.2% ตามลำดับ ซึ่งมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์รวม 3,938 หน่วย มูลค่า 18,013 ล้านบาท
โดย 10 อันดับของชาติที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด อันดับแรก ได้แก่ จีน ซึ่งยังครองแชมป์ไว้ได้ ด้วยจำนวน 1,596 หน่วย เป็นสัดส่วน 41% ตามมาด้วย พม่า ที่ขึ้นนำรัสเซียเป็นอันดับที่ 2 ด้วยจำนวน 392 หน่วย เป็นสัดส่วน 10% และรัสเชีย 295 หน่วย เป็นสัดส่วน 7% อันดับที่ 4 คือ สหรัฐอเมริกา ที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์ 164 หน่วย คิดสัดส่วนประมาณ 4% ตามมาด้วย เยอรมัน 151 หน่วย คิดเป็น 4% และไต้หวัน 143 หน่วย เป็นสัดส่วนราว 4% เช่นเดียวกัน อันดับที่ 7 ได้แก่ ฝรั่งเศส ที่มีจำนวน 129 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 3% และอันดับที่ 8 สหราชอาณาจักร 108 หน่วย คิดเป็น 3% อันดับที่ 9 คือ ออสเตรเลีย 83 หน่วย คิดเป็น 2% และอันดับที่ 10 คือ สิงคโปร์ 57 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 1%
สำหรับด้านมูลค่า 10 แรกของชาติที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์โดยรวม จีน ยังเป็นอันดับ 1 มีมูลค่ารวม 7,570 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42% อันดับที่ 2 และ 3 ยังได้แก่ พม่า และ รัสเซีย ที่มีมูลค่า 2,207 ล้านบาท และ 924 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% และ 15% ตามลำดับ อันดับที่ 4 สหรัฐอเมริกา มูลค่า 919 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 5% และอันดับที่ 5 ไต้หวัน ที่ถึงแม้จะเป็นรองเยอรมันในด้านจำนวนหน่วย แต่ขึ้นนำในด้านมูลค่า โดยมีมูลค่ารวม 680 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4% ตามมาด้วยอันดับที่ 6 ฝรั่งเศส มีมูลค่า 550 ล้านบาท เป็นสัดส่วนราว 3% และอันดับที่ 7 เยอรมัน มูลค่ารวม 485 ล้านบาท คิดเป็น 3% อันดับที่ 8 ได้แก่ สหราชอาณาจักร มูลค่ารวมทั้งสิ้น 373 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 2% อันดับที่ 9 อินเดีย 365 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2% และอันดับที่ 10 คือ สิงคโปร์ ด้วยมูลค่า 335 ล้านบาท คิดเป็น 2%
ทั้งนี้ มีจุดสังเกตว่า อินเดียเป็นประเทศเดียวที่ไม่ติดอันดับในด้านจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ติดหนึ่งในสิบของชาติที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด ซึ่งกำลังซื้อจากอินเดียมีมูลค่าเฉลี่ยต่อหน่วยสูงที่สุด คือ 6.5 ล้านบาทต่อหน่วย โดยพื้นที่เฉลี่ยต่อหน่วย 72.7 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และมีราคาสูง
มากไปกว่านั้น ดร.วิชัย คาดการณ์ว่า ภาพรวมของสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติตลอดทั้งปีนี้ จะเติบโตได้ต่อเนื่องจากปี 2566 คือ 25%
ทั้งนี้ มาตรการสร้างกำลังซื้อที่อยู่อาศัยจากชาวต่างชาติก็ยังคงจำเป็น หากประเทศยังอยู่ในสภาวะที่กำลังซื้อภายในอ่อนแอเช่นนี้ เป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจให้กำลังซื้อภายในกลับมาแข็งแรง โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อกฃกำลังซื้อภายในประเทศ ข้อจำกัด และกฎเกณฑ์ให้เหมาะสม เช่น การกำหนดสิทธิในการโหวต (Voting Right) ในนิติบุคคลอาคารชุดของเจ้าของร่วมที่ควรให้สัดส่วนชาวต่างชาติน้อยกว่าคนไทย หรือการจำกัดการเพิ่มโควตาเฉพาะในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากสัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั่วทั้งประเทศยังต่ำกว่าโควตา 49% มีเพียงแค่บางพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ที่เป็นที่ต้องการมาก และสัดส่วนโควตาชาวต่างชาติไม่เพียงพอ รวมไปถึง ที่ผ่านมาประชาชนเกิดความกังวลว่าราคาที่อยู่อาศัยจะสูงขึ้น หากมีมาตรการนี้ในอนาคต ดังนั้น ภาครัฐก็จำเป็นต้องคำนึงถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชนถึงสิทธิ์ที่ทุกคนจะได้มีที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน