คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น

10 มี.ค. 2567 | 08:09 น.
1.9 k

คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น : คอลัมน์บทความ โดย...โชติกา ชุ่มมี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,973 หน้า 5 วันที่ 10 - 13 มีนาคม 2567

ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตเป็นโสดมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จาก จำนวนคนโสดในหลายประเทศ ทั้งในซีกโลกตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และ ฟากฝั่งเอเชีย ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรในหลายประเทศ และฐานข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ในปี 2023 ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนคนโสดทั่วโลกมากถึงราว 2.12 พันล้านคน หรือ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 23% ในปี 1985 อีกทั้งยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 35% ของจำนวนประชากรทั่วโลกภายในปี 2050 อีกด้วย 

 

 

 

โดยจากข้อมูลล่าสุดในปี 2023 พบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดต่อประชากรมากที่สุดในโลกคือ เดนมาร์ก โดยอยู่ที่ 24.1% ของจำนวนประชากร รองลงมาคือ ฝรั่งเศส และ ฟินแลนด์ ที่ 22.8% และ 19.6% ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่าประเทศที่ติด 10 อันดับแรกเกือบทั้งหมดอยู่ในทวีปยุโรป 

นอกจากจะเป็นผลมาจากความไม่พร้อมในการสร้างครอบครัวจากปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าแล้ว ยังมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมในเรื่องการให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตน (Individualization) ที่ชัดเจนและหยั่งรากลึกในสังคมยุโรปมาอย่างยาวนาน 

 

ขณะที่ในฝั่งเอเชีย พบว่า ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดสูงที่สุด และอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก โดยอยู่ที่ราว 15.5% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 

 

คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น

 

สถิติดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่น่าสนใจในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลล่าสุดในปี 2023 ที่พบว่า สัดส่วนของชาวอเมริกัน ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียว และไม่มีคู่ครอง เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 40% ซึ่งนับเป็นสถิติที่สูงขึ้นมากจากปี 1990 ที่ 29% 

ยิ่งไปกว่านั้น ราวครึ่งนึงของคนกลุ่มนี้ยังไม่สนใจที่จะหาคู่ครองด้วยการออกเดท หรือ การคบหาเพื่อสานสัมพันธ์กับใครอีกด้วย สอดคล้องกับสถิติการจดทะเบียนสมรสที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน 

ขณะที่ในฝั่งยุโรปเอง ก็มีเทรนด์ในเรื่องกระแสคนโสดที่ไม่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจของ IfD Allensbach ประเทศเยอรมนี ที่พบว่าจำนวนคนที่เลือกจะครองตัวเป็นโสด หรือ “People living as a committed single” ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.74 ล้านคน ในปี 2019 มาอยู่ที่ 5.18 ล้านคน ในปี 2023 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ราว 2.2% ต่อปี สอดคล้องกับจำนวนครัวเรือนที่อาศัยอยู่คนเดียว ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในฟากฝั่งเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น ก็มีมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน โดยเลือกที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความต้องการแต่งงานน้อยลง

สอดคล้องกับข้อมูลสถิติการจดทะเบียนสมรส (Marriage registration) ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

โดยจากข้อมูลล่าสุดในปี 2022 พบว่า สถิติการจดทะเบียนสมรสของชาวญี่ปุ่นลดลงมาอยู่ที่ 4.1 คู่ต่อประชากร 1,000 คน เทียบกับปี 1970 ซึ่งอยู่ที่ 10 คู่ต่อประชากร 1,000 คน 

นอกจากนี้ จากการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อช่วงกลางปี 2022 ยังพบอีกว่า กว่า 1 ใน 4 ของประชากรในวัย 30-40 ปี ยังไม่มีความคิดที่อยากจะแต่งงานอีกด้วย

ซึ่งทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ได้สร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างมาก จนกลายเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศซึ่งได้ชื่อว่ามีอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility rate) และอัตราการเกิดตํ่าที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย 

โดยผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นเพศหญิงระบุว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่อยากแต่งงาน คือ ไม่อยากสร้างภาระในชีวิตเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะแม่บ้านและภรรยา รวมทั้งหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร ผู้สูงอายุ และ สมาชิกคนอื่นในครอบครัว 

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการหย่าร้าง ของญี่ปุ่นในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูงมากอีกด้วย

จีน คืออีกหนึ่งประเทศที่มีจำนวนคนโสดเยอะมาก และกำลังจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 400 ล้านคนในไม่ช้านี้ ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งอัตราการจดทะเบียนสมรสที่ลดลง และอัตราการหย่าร้าง ที่เพิ่มสูงขึ้น

สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดในประเทศจีนที่พบว่า คนหนุ่มสาวที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปที่ไม่ได้ แต่งงานกำลังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างมากทั้งในหัวเมืองใหญ่ และเขตชนบทของจีน 

สำหรับคนไทยเองก็มีแนวโน้มแต่งงานลดลง และเลือกที่จะใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้น ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่านิยมและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการใช้ชีวิตที่อิสระ มีโลกส่วนตัวมากขึ้น รวมไปถึงเหตุผลด้านความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงด้านหน้าที่การงาน 

ประเด็นเหล่านี้ส่งผลให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ มีแนวโน้มครองตัวเป็นโสดมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เปิดเผยว่า คน Gen Y มีค่านิยมครองตัวเป็นโสด ไม่สมรส ไม่มีลูก และมุ่งทำงานเพื่อความสำเร็จ หรือให้ความสำคัญกับงานมากกว่าครอบครัวนั่นเอง 

สะท้อนได้จากสถิติการจดทะเบียนสมรสในไทย ที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ในช่วงระหว่างปี 2013-2022 อัตราการจดทะเบียนสมรสของคนไทย ลดลงจาก 13.1 คู่ต่อพันครัวเรือน ในปี 2013 มาอยู่ที่ 11.3 คู่ต่อพันครัวเรือนในปี 2022

คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ต้องมีการเลื่อนการจัดงานแต่งงาน และการจดทะเบียนสมรสออกไปก่อน ในช่วงปี 2020-2021 ก่อนจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในปี 2022 แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงอยู่ตํ่ากว่าสถิติการจดทะเบียนสมรสในอดีตอีกพอสมควร 

นอกจากนี้ ในทางกลับกัน ข้อมูลสถิติของกรมการปกครองยังบ่งชี้ว่า คนไทยมีแนวโน้มหย่าร้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยอัตราการจดทะเบียนหย่าเพิ่มสูงขึ้นจาก 4.7 คู่ต่อพันครัวเรือน ในปี 2013 มาอยู่ที่ 5.4 คู่ต่อพันครัวเรือนในปี 2022 สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสคนโสดนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหารสำหรับนั่งทานคนเดียว ธุรกิจจัดส่งวัตถุดิบพร้อมปรุง เพื่อตอบโจทย์คนโสดที่อยากทำอาหารทานเองแต่มีเวลาน้อย 

โปรแกรมการท่องเที่ยว รวมทั้งห้องพักและกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะกับคนที่เดินทางท่องเที่ยวคนเดียว ที่อยู่อาศัยที่เหมาะและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนโสด หรือแม้แต่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพื่อตอบโจทย์คนโสดขี้เหงา 

หมายเหตุ : เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความเรื่อง จักรวาลแห่งความโสด และโอกาสทางธุรกิจก้อนโตที่ไม่ควรมองข้าม โดย... โชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์