สำหรับ แผนงานให้ทหารช่วยเร่งมีทายาท นี้ ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 ในรูปของคำสั่งฝ่ายบริหาร และมีการเดินหน้าสั่งการอย่างเร่งด่วนให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กันยายนในทันที
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า แผนงานนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่เพียงแค่ การแก้ปัญหาประชากร ของประเทศเท่านั้น แต่ยังต้องการทำให้กองทัพเป็นเป็นทางเลือกด้านอาชีพที่น่าสนใจสำหรับชาวจีนในพื้นที่ชุมชนเมืองและในกลุ่มผู้ที่มีการศึกษาด้วย
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า รัฐบาลจีนยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดคำสั่งดังกล่าวที่มีความยาว 33 รายการออกมา แต่สื่อของรัฐรายงานว่า นโยบายนี้จะ “ตั้งมาตรฐานการปรับเปลี่ยนการ(วางแผน)ให้กำเนิด รางวัลจูงใจ บริการที่เกี่ยวข้อง” และจัดตั้ง “ห่วงโซ่อันสมบูรณ์” ตั้งแต่การถือกำเนิดของเด็กไปจนถึงการเลี้ยงดูเด็ก “พร้อมการสนับสนุนทางเทคนิคเต็มรูปแบบ”
ข้อมูลที่มีการโพสต์ทางบัญชีเว่ยโป๋ (Weibo) ของกองทัพจีนระบุว่า มาตรการต่าง ๆ นั้นมีทั้งการลาหยุดพักร้อน 5 วันต่อปีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 3 ปี และโอกาสสำหรับผู้ที่เพิ่งสมัครเข้ารับราชการทหารที่จะได้ลาไปเยี่ยมครอบครัวในช่วง 2 ปีแรกของการเข้ารับราชการ
รายงานข่าวระบุว่า นับตั้งแต่รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวในปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ.2559) ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางเริ่มปรับเปลี่ยนการทำงานในเรื่องการวางแผนครอบครัวและนำเสนอรางวัลจูงใจต่าง ๆ สำหรับคู่สมรสให้มีลูกเพิ่มขึ้นเป็น 2 คน ก่อนจะมีการเพิ่มอีกครั้งในปี ค.ศ. 2021 ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ให้เป็น 3 คน
รางวัลจูงใจที่ว่านี้ มีความแตกต่างกันไปแล้วแต่นโยบายของรัฐบาลแต่ละมณฑล และแต่ละเมืองเพื่อสนับสนุนให้แต่ละครอบครัวมีลูก 3 คน เช่น
ยกตัวอย่าง ที่เมืองเชาซิง ทางภาคตะวันออกของจีน ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้มากนัก คู่สมรสที่มีลูก 3 คนจะได้เครดิตช่วยซื้อบ้านเป็นมูลค่าถึง 50,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1.8 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความพยายามต่าง ๆ ของภาครัฐจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใด
เมื่อปี 2022 ตัวเลขการเกิดใหม่ของจีนลดลง เหลือเด็ก 1.09 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งจัดว่าเป็นหนึ่งในอัตราที่ต่ำที่สุดในโลก และยังเป็นปีแรกในรอบ 61 ปีที่ประชากรของจีนหดตัว โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ด้วย
นายสตีเวน โมเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายวางแผนครอบครัวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ให้ความเห็นว่า มาตรการใหม่ของกรุงปักกิ่งสำหรับเจ้าหน้าที่กองทัพเป็นสัญญาณว่า “จีนกำลังต้องการเด็กเกิดใหม่อย่างสุด ๆ แล้ว”
แต่แม้จะมีการประกาศคำสั่งนี้ออกมา พร้อม ๆ กับการนำเสนอคลิปวิดีโอและบทความออนไลน์เพื่อโปรโมทมาตรการใหม่ของรัฐบาลและเรียกร้องให้คู่สมรสในกองทัพทำหน้าที่เพื่อชาติ หลายคนก็ยังอดสงสัยไม่ได้และบางคนก็ออกมากระเซ้าผ่านแพลตฟอร์มวีแชท (WeChat) ว่า
ถ้ารัฐบาลยอมจ่ายเงินสนับสนุนเดือนละ 3,000 หยวน (ราว 15,000 บาท) ก็อาจลองพิจารณาร่วมโครงการดู ขณะที่ หลายคนมีท่าทีไม่อยากจะรับผิดชอบต้นทุนของการมีลูก แม้ว่ารัฐบาลจะนำเสนอบริการด้านการศึกษาสำหรับเด็กและสิทธิประโยชน์ด้านวันหยุดให้ก็ตาม
ผู้ใช้งานวีแชทรายหนึ่งซึ่งผู้สื่อข่าวของวีโอเอเชื่อว่า น่าจะเป็นภรรยาของเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลหนิงเซี่ย ทางภาคตะวันตก ระบุว่า เธอไม่มีทางที่จะมีลูกอีกคนเป็นอันขาด เพราะเวลานี้ เธอดูแลลูกสองคนด้วยตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากพ่อแม่ของเธอมาช่วยไม่ได้ และสามีก็ไม่ค่อยอยู่บ้านเพราะต้องไปประจำการตลอดเวลา 10 ปีที่เธอแต่งงานมา
รายงานข่าวระบุว่า ปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารของจีนจะได้รับอนุญาตให้ลากลับบ้าน 1 ครั้งตลอดชีวิตการเป็นทหารเป็นเวลา 40 วัน แต่ต้องพ้น 2 ปีแรกของการรับราชการเสียก่อน
นายเชน กวงเชิง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปีเพราะการเคลื่อนไหวสนับสนุนสิทธิสตรีและต่อต้านนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลจีนเมื่อครั้งอดีต ให้ความเห็นว่า มาตรการใหม่นี้ไม่น่าแปลกใจ “รัฐบาลสามารถสัญญาอะไรก็ได้ที่พวกเขาต้องการ แต่พวกเขาจะทำตาม(สัญญา) หรือไม่ นั่นคือสิ่งที่ประชาชนสงสัย”
บางคนมองว่า ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการทำให้อาชีพทหารเป็น “ทางเลือกที่น่าสนใจ” สำหรับประชาชน
นายหู ปิง นักเขียนและบรรณาธิการชาวจีนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา มองว่า รัฐบาลจีนกำลังจัดความสำคัญของทรัพยากรสำหรับกองทัพให้อยู่ในลำดับต้น ๆ ขณะที่ นาวาเอกเจมส์ อี ฟาเนลล์ อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพเรือที่เกษียณตัวแล้ว ให้ความเห็นว่า ข้อความที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนส่งออกมาคือ ถ้าคุณมาร่วมกับกองทัพปลดปล่อยประชาชน คุณจะได้รับใช้จีนในฐานะผู้รักชาติ และคุณยังสามารถมีครอบครัว โดยรู้ดีว่า ทุกคน(ในครอบครัว)จะได้รับการดูแลอย่างดีจากรัฐบาล
ข้อมูลอ้างอิง