แจกแบบฟอร์ม หนังสือมอบอำนาจ วิธีเขียน ใช้ติดต่อกรมที่ดิน

09 มี.ค. 2567 | 18:36 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2567 | 18:51 น.
10.4 k

แจกแบบฟอร์ม หนังสือมอบอำนาจ วิธีเขียน อย่างถูกต้องครบถ้วน ใช้ติดต่อกรมที่ดิน ในการมอบผู้อื่น ทำนิติกรรมแทนตนเองเช่น การขาย ,ซื้อ ,ขายฝาก ,จำนอง ,รับจำนอง ที่ดิน

การทำนิติกรรม หรือจดทะเบียนสิทธิ ที่สำนักงานที่ดิน กรมที่ดิน ในบางกรณีเช่น การขาย ,ซื้อ ,ขายฝาก ,รับซื้อฝาก ,ไถ่จากขายฝาก ,การให้ ,การรับให้ ,จำนอง ,รับจำนอง ,ไถ่ถอนจากจำนอง ,รับโอนมรดกที่ดิน , ผู้จัดการมรดก ,โอนเปลี่ยนนามผู้จัดการมรดก ,การเช่า เป็นต้น

หากเจ้าตัวไม่สะดวก ติดต่อสำนักงานที่ดินด้วยตนเอง สามารถทำ "หนังสือมอบอำนาจ" ให้ผู้อื่นกระทำแทนได้ โดยผู้นั้นจะต้องทำหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ทำการแทน และมอบบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมเซ็นรับรอง ให้กับผู้รับมอบอำนาจไปแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย

หนังสือมอบอำนาจ ติดต่อกรมที่ดิน

"การมอบอำนาจ" คือ การที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า "ตัวการ" มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า "ตัวแทน" มีอำนาจทำการแทน และการกระทำนั้นมีผลในทางกฎหมายเสมือนว่าตัวการทำด้วยตนเอง

หากกฎหมายกำหนดว่าการมอบอำนาจต้องทำเป็นหนังสือ ก็ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดินหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีสาระสำคัญครบถ้วน เพื่อความสะดวกควรใช้แบบพิมพ์ของกรมที่ดิน (แบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจกรมที่ดิน คลิกที่นี่) หากจะใช้กระดาษอื่นควรเขียนข้อความตามแบบพิมพ์ของกรมที่ดิน เพราะจะได้รายการที่ชัดเจนและถูกต้อง 

เจ้าของที่ดิน และผู้ซื้อที่ดินจะต้องระมัดระวัง หรือกระทำการให้รัดกุมรอบคอบ ป้องกันการฉ้อโกงหรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ดังนั้นผู้มอบควรปฏิบัติตามคำเตือนหลังใบมอบอำนาจโดยเคร่งครัด

หนังสือมอบอำนาจ

หนังสือมอบอำนาจควรใช้ตามแบบของกรมที่ดิน ซึ่งมีอยู่ 3 แบบ

  • สำหรับที่ดินมีโฉนดแล้ว (แบบ ท.ด. 21) 
  • สำหรับที่ดินยังไม่มีโฉนด หรือสิ่งปลูกสร้าง (แบบ ท.อ. 4) 
  • สำหรับหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (แบบ อ.ช. 21) 

ข้อแนะนำในการมอบอำนาจ 

1. ให้กรอกเครื่องหมายหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินหรือ อสังหาริมทรัพย์ อย่างอื่น เช่น ตึก,บ้านเรือน,โรง,ให้ชัดเจน

2. ให้ระบุเรื่องและอำนาจจัดการให้ชัดเจนว่า มอบอำนาจให้ทำอะไร เช่น ซื้อขาย จำนอง ฯลฯ ถ้ามีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มเติมก็ให้ระบุไว้ด้วย

3. อย่ากรอกข้อความที่ลายมือต่างกัน และใช้น้ำหมึกต่างสีกัน ถ้าใช้เครื่องพิมพ์ดีดก็ต้องเป็นเครื่องเดียวกัน

4. ถ้ามีการขูดลบ ตกเติม แก้ไข ขีดฆ่า ให้ระบุว่า ขีดฆ่าตกเติมกี่คำ และผู้มอบอำนาจต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยทุกแห่ง

5. อย่าลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ ก่อนกรอกข้อความครบถ้วน และถูกต้องตามความประสงค์แล้ว อย่าลงชื่อในกระดาษเปล่าซึ่งยังมิได้กรอกข้อความเป็นอันขาด

6. ให้มีพยานอย่างน้อย 1 คน ถ้าผู้มอบอำนาจพิมพ์ลายนิ้วมือต้องมีพยาน 2 คน พยานต้องเซ็นชื่อจะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ ถ้าภรรยาเป็นผู้รับมอบอำนาจต้องให้สามีลงชื่อเป็นพยานและให้บันทึกความยินยอมเป็นหนังสือด้วย

7. หนังสือมอบอำนาจที่ทำในต่างประเทศควรให้สถานทูต หรือสถานกงสุล หรือโนตารีพัพลิค รับรองด้วย
บางเรื่องผู้มอบอำนาจเป็นผู้รับมอบอำนาจจากทั้งสองฝ่ายคือเป็นตัวแทนทั้งฝ่ายผู้โอนและผู้รับโอนในกรณีเช่นนี้ผู้ มอบอำนาจจะต้องระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจด้วยว่า ยินยอมให้ผู้รับมอบเป็นผู้แทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วย (มาตรา 805 แห่ง ป.พ.พ.)

ในส่วนผู้รับซื้อ หรือผู้รับสิทธิในนิติกรรมมีหน้าที่ระมัดระวัง เพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนเอง โดยจะต้องรู้จักตัวเจ้าของที่ดินที่แท้จริง ว่ามีตัวตนหรือไม่มีชีวิตอยู่หรือไม่ มีเจตนาจะขายที่ดินจริงหรือไม่ หากไม่รู้จักเจ้าของที่ดินที่แท้จริงเสียเลยย่อมเป็นการผิดวิสัย ถ้าไม่แน่ใจสามารถขอตรวจดูหลักฐานที่ดินที่สำนักงานที่ดินได้