“จำนองที่ดิน” ให้มีผลทางกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ ต้องติดต่อกรมที่ดิน 

22 ก.พ. 2567 | 15:54 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2567 | 16:09 น.
1.4 k

“จำนองที่ดิน” ให้มีผลทางกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ ดูรายละเอียด ขั้นตอนจดทะเบียน ติดต่อกรมที่ดิน เงือนไขการกำหนดอัตราดอกเบี้ย การยึดทรัพย์จำนอง รู้ไว้ไม่ถูกโกง

การจำนองที่ดิน  คือการที่ผู้จำนองเอาทรัพย์สินของตนมาเป็นประกันการชำระหนี้แก่ผู้รับจำนอง โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง จึงแตกต่างจากการจำนำที่เป็นการวางทรัพย์สินไว้กับผู้รับจำนำ โดยหากไม่ได้ตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้  หรือไม่มีกฎหมายใดกำหนดดอกเบี้ยอย่างชัดเจน ตามกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้ใช้อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี

หากคู่สัญญาตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ ห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี  แต่ถ้ากำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีถือเป็นความผิดอาญา และขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่งผลให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพัน

จำนองที่ดิน

หลักเกณฑ์การจำนอง 

  • การจำนองต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงานที่ดิน ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันคู่กรณี หากไม่ไปจดทะเบียนก็เป็นเพียงสัญญากู้เงินธรรมดาไม่ใช่การจำนอง
  • ต้องระบุทรัพย์สินที่จำนองให้ชัดเจน
  • ต้องระบุจำนวนเงินเป็นเงินไทย เป็นจำนวนตรงตัว หรือจำนวนขั้นสูงสุดที่ได้เอาทรัพย์สินจำนองไว้เป็นประกัน

ทรัพย์ที่สามารถจำนองได้

ตามประมวลกฎหมายที่ดิน  ระบุถึงทรัพย์ที่สามารถจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ได้แก่ ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่ ที่มีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ดิน

ที่ดินที่จะจำนองได้โดยทั่วไปได้แก่  ที่ดินที่มีหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินแล้ว เช่น ที่ดินที่มีโฉนด และตราจองที่ตราว่า “ ว่าได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ,น.ส. 3ก. , น.ส. 3ข.)

สิทธิของผู้จำนอง 

เนื่องจากการจำนองเป็นการเอาทรัพย์สินมาเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนองให้แก่ผู้รับจำนอง ดังนั้นแม้ว่าทรัพย์สินจะได้นำมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้แล้ว ผู้จำนองจึงยังคงเป็นเจ้าของอยู่ตามเดิม และยังคงครอบครองทำประโยชน์ในทรัพย์สินที่จำนองได้ต่อไป


สิทธิของผู้รับจำนอง 

  • ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้ทั่วไป
  • ผู้รับจำนองสามารถ บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ ไม่ว่าทรัพย์สินที่จำนองจะโอนไปให้แก่ผู้ใด การจำนองย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์ที่จำนอง

การบังคับจำนอง

คือ การที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิบังคับชำระหนี้โดยการฟ้องร้องคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำ พิพากษาให้ยึด หรืออายัดทรัพย์สินที่จำนองเพื่อนำไปขายทอดตลาด และเอาเงินที่ได้นั้นมาชำระหนี้ที่ค้างแก่เจ้าหนี้ หรือเอาทรัพย์สินที่จำนองหลุดเป็นของเจ้าหนี้

โดยผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดให้คำบอกเหล่านั้น ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองจะฟ้องศาลเพื่อให้พิพากษา สั่งให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองและนำไปขายทอดตลาดได้

เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์จำนอง ให้นำเงินชำระหนี้คืนให้แก่ผู้รับจำนอง หากมีเงินเหลือเท่าใดให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง

เมื่อฟ้องศาลแล้ว ผู้รับจำนองยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาทรัพย์สินที่จำนอง หลุดเป็นของผู้รับจำนองได้ตาม หากลูกหนี้ขาดส่งดอกเบี้ยมาแล้วเป็นเวลาถึง 5ปี ,ผู้จำนองไม่ได้แสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาล ว่าราคาทรัพย์สินนั้นเท่าจำนวนเงินอันค้างชำระ และไม่มีการจำนองรายอื่น หรือบุริมสิทธิอื่นได้จดทะเบียนไว้เหนือทรัพย์สินจำนอง

ถ้าผู้รับจำนองเอาทรัพย์จำนองหลุดเป็นของผู้รับจำนอง และราคาทรัพย์จำนองนั้นต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระอยู่ หรือถ้าเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น เว้นแต่ได้มีการตกลงกันว่าลูกหนี้ยอมใช้เงินที่ขาดจนครบ หรือยินยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่น นอกจากที่จำนองนำมาบังคับชำระหนี้จนครบ