อนันดาฯ มั่นใจคณะทำงานกระทรวงคมนาคม มีความคืบหน้าแอชตัน อโศก

07 มี.ค. 2567 | 07:20 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2567 | 08:17 น.

อนันดาฯ มั่นใจคณะทำงานกระทรวงคมนาคม มีความคืบหน้าแอชตัน อโศก หลังศาลปกครองสูงสุดชี้แจงคดีแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ศาลปกครองไม่ได้สั่งรื้อถอน

 

ศาลปกครองสูงสุดชี้แจงคดีแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ศาลปกครองไม่ได้สั่งรื้อถอน การบังคับคดีเป็นเรื่องของ กทม. ขณะที่ "อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์" อัพเดตความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา ภายใต้คณะทำงานแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบประชาชนของกระทรวงคมนาคม แต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ทำให้มีสัญญาณที่ดี และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดจัดแถลงผลการทำงานครบรอบ 23 ปี อย่างไรก็ตาม มีการนำเสนอข่าวบนช่องทางออนไลน์ เมื่อเวลา 16.40 น. โดยพาดหัวข่าวว่า "คดีคอนโด แอชตัน อโศก หากไม่คืบใน 3 เดือน ศาลปกครองชี้ กทม.อาจต้องสั่งรื้อตึก"

ทำให้สร้างความวิตกกังวลให้กับลูกบ้านที่ซื้อและโอนห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 หรือแอชตัน อโศก จำนวนมากถึง 668 ห้องชุดทันที เนื่องจากการแก้ไขปัญหาแอชตัน อโศก กำลังมีสัญญาณบวกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 จากการที่กระทรวงคมนาคม ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อแก้ปัญหาและลดผลกระทบให้กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน

ปรากฏว่าหลังจากข่าวบนออนไลน์เผยแพร่ออกไปไม่นาน ทางศาลปกครองได้ส่งเอกสารข่าวชุดใหม่เมื่อเวลา 18.39 น. (6 มีนาคม) สรุปสาระสำคัญชี้แจงว่า ศาลปกครองไม่ได้สั่งให้รื้อถอนแอชตัน อโศก โดยศาลปกครองมีคำตัดสินให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ส่วนการบังคับคดีเป็นเรื่องของหน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้างซึ่งก็คือกรุงเทพมหานคร (กทม.)

คำสั่งศาลปกครอง-เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง รายละเอียดเอกสารชี้แจงของศาลปกครอง มีดังนี้ ศาลปกครอง  เตือน กทม.เร่งสางปัญหาคดีถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดแอชตันอโศก ก่อนลุ้นอีกคดี ที่สยามสมาคมฟ้องให้ กทม.บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ยังอยู่ในการในการพิจารณาศาลปกครอง

 

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่สำนักงานศาลปกครอง นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในชั้นปกครองสูงสุด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึง กรณีปัญหาการบังคับคดีแอชตันอโศกที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ว่า คดีนี้ศาลสั่งให้มีการเพิกถอน ใบอนุญาตก่อสร้างตึกแอชตันอโศก เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการบังคับคดี เป็นเรื่องที่กทม.จะต้องไปดำเนินการตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ศาลไม่ได้สั่งว่าจะต้องรื้อ หรือจะบังคับคดีเป็นอื่นใด

อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีคอนโดแอชตัน อโศก อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดอีก 1คดี เป็นคดีที่ สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา

ในกรณีที่ออกใบอนุญาตให้บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน-อโศก ถ.สุขุมวิท21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. โดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 

คดีนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ว่า ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหรือ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา ใช้อำนาจ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณี ดำเนินการต่อบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโครงการอาคารคอนโดมิเนียม แอชตัน-อโศก ถ.สุขุมวิท21 (อโศกมนตรี) เขตวัฒนา กทม. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

สำหรับกรณีที่ต้องใช้อำนาจกฎหมาย ในการออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารโครงการแอชตัน-อโศก ดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เฉพาะในส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างถนนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน  

นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้อำนวยการเขตวัฒนา บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพิพาท กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ส่วนความคืบหน้าของคดีแอชตัน อโศก นายวีระวัฒน์ วีรารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากได้มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2567 หัวข้อข่าว "คดีคอนโด แอชตัน อโศก หากไม่คืบใน 3 เดือน ศาลปกครองชี้ กทม.อาจต้องสั่งรื้อตึก"

ได้มีการนำเสนอเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับ  "กรณีปัญหาการบังคับคดีแอชตันอโศกที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างว่า คดีนี้ศาลสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างตึกแอชตันอโศก เนื่องจากเห็นว่าเป็นการออกใบอนุญาตโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่ได้สั่งว่าจะต้องรื้อ หรือจะบังคับคดีเป็นอื่นใด

ฉะนั้น อีก 3 เดือนต่อจากนี้ จะครบกำหนดตามคำพิพากษาที่ให้กทม. อนันดา เอฟเอ็ม เอเชีย อโศก จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารภายใน 180 วัน ทั้ง 3 หน่วยงานดังกล่าว จะต้องหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว หากหาทางออกไม่ได้ กทม.ก็ต้องมีหน้าที่บังคับให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ควบคุมอาการ ด้วยการรื้อถอนส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างถนนให้เสร็จภายใน 90 วัน"

ซึ่งเนื้อหาที่มีการเผยแพร่มีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาจก่อให้เกิดความสับสน และอาจทำให้ท่านเจ้าของร่วม รวมทั้งประชาชนเข้าใจผิดในสาระสำคัญของคดีของศาลปกครองสูงสุด

ทั้งนี้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ("บริษัท") จึงขอชี้แจงว่า รายละเอียดในข่าวดังกล่าวข้างต้น เป็นเนื้อหาคำพิพากษาคดีของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 450/2560 คดีหมายเลขแดงที่ 2413/2565 ระหว่าง สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1), ผู้อำนวยการสำนักโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ผู้อำนวยการเขตวัฒนา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก (ผู้ร้องสอดที่ 1) รฟม. (ผู้ร้องสอดที่ 2) นิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน-อโศก(ผู้ร้องสอดที่ 3)

ซึ่งศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ "ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันปรึกษาหารือกับผู้ร้องสอดที่ 1,2 เพื่อหาแนวทางแก้ไขการก่อสร้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใน 180 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด หากไม่สามารถแก้ไขได้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 3 ใช้อำนาจรื้อการก่อสร้างส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใน 90 วัน"

ปัจจุบันคู่ความทุกฝ่ายได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ไปยังศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด คดีดังกล่าวจึง "ยังไม่ถึงที่สุด" และ "ยังไม่มีการบังคับคดีใดๆ" (อ่านเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลปกครองกลาง หน้า 31)

อย่างไรก็ตาม กรณีโครงการแอชตัน อโศก มีอีก 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อส.67/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อส.188/2566 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้อำนวยการเขตวัฒนาฯ ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด หรือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ผู้ร้องสอด) ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566

โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาการบังคับคดีแต่อย่างใด (อ่านเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หน้า 132-133)

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความเชื่อและมั่นใจในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐถึงการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการแต่งตั้ง "คณะทำงานเพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบให้กับประชาชน จากกรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก"

กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ได้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และมีอำนาจในการเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน

ปัจจุบัน คณะทำงานฯ อยู่ระหว่างการพิจารณา และเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือในการดำเนินการของคณะทำงานอย่างเต็มที่ และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐให้ความใส่ใจต่อความเดือดร้อนของประชาชน