เปิด 5 ทางออก "แอชตัน อโศก" อนันดาเตรียมเสนอลูกบ้าน 23 ส.ค.

06 ส.ค. 2566 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2566 | 09:52 น.
5.5 k

เปิด 5 ทางออก "แอชตัน อโศก" อนันดาเตรียมเสนอลูกบ้าน 23 ส.ค. หลังทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหวังหาแนวทางแก้ไขปัญหา

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANANDA เปิดเผยว่า บริษัทกำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขและจะแจ้งให้ลูกบ้านโครงการ "แอชตัน อโศก" ทราบในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ตามที่ขอเวลาไว้ 14 วันทำการ โดยมีหลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้ ประกอบด้วย 

  • ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อหรือหาที่ดินเพิ่มเติม 
  • เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักการโยธา กทม.ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) 
  • เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยัง ครม. 
  • ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้
  • ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่

"หลังทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขกรณีใบอนุญาตก่อสร้างใหม่นั้น คาดว่าจะมีหารือร่วมกันเร็วๆ นี้"
 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากอนันดา โดยยังยืนยันว่าศาลให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯของ กทม.ทั้ง 4 ฉบับ มิได้เพิกถอนประกาศกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. และใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านดังกล่าวแต่อย่างใด ขณะนี้กำลังให้ฝ่ายกฎหมายดูรายละเอียดของคำพิพากษาและข้อกฎหมาย รฟม.

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนให้กรมดำเนินการตรวจสอบข้อกฎหมายควบคุมอาคารเพิ่มเติม โดยเมื่อปี 2558 อนันดามีหนังสือหารือมาในข้อกฎหมายว่าถ้าหากมีทางเข้าออกที่ติดกับทางสาธารณะหน้ากว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ตามกฎหมายจะสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษได้หรือไม่ ซึ่งกรมได้ตอบไปตามข้อกฎหมายว่าถ้ามีก็ทำได้ แต่ทางเข้าออกนั้นต้องไม่มีติดเงื่อนไขใดๆ ตราบเท่าที่มีอาคารนั้นตั้งอยู่

"กรมไม่ได้ตอบรายละเอียดทางเข้าออกที่ขอใช้ของ รฟม. เป็นแค่คำถามมาว่าจะอนุญาตได้หรือไม่ถ้าเกิดมีที่ดินอีกแปลงเพิ่มแค่นั้นเอง เราก็ไม่ได้ตอบว่าได้หรือไม่ได้ เราแค่เป็นการทวนข้อกฎหมายไปให้รับทราบว่าที่ดินที่เขาหามาจะทำเป็นทางเข้าออกจะต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ เท่าที่ดูเนื้อหาที่ตอบในเวลานั้นเราไม่ได้แตะเรื่องทางเข้าออก 12 เมตร ว่าเป็นที่ดินของใครเลย" 

ส่วนการที่บริษัทเสนอแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักการโยธา กทม.มายังกรม กระทรวงมหาดไทยไปยัง ครม.นั้น คงเป็นไปได้ยากถ้าจะให้แก้กฎหมายเพื่อโครงการเดียว และกรมคงทำให้ไม่ได้ เข้าใจว่าคงเป็นการเรียกร้องของบริษัทต่อ กทม.เพื่อร่วมกันแก้ปัญหามากกว่า

อย่างไรก็ดี กรมมองว่าข้อกฎหมายควบคุมอาคารหรือกฎกระทรวงต่างๆ มีความชัดเจนอยู่แล้ว และมีแนวทางการปฏิบัติที่รัดกุมอยู่แล้วว่าอาคารขนาดใหญ่มีทางเข้าออกอย่างไร เพื่อให้มีความปลอดภัย ซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่เรื่องแอชตัน อโศก เป็นประเด็นที่บริษัทนำเอกสารทางเข้าออกที่นำมาแนบขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นทางเข้าออกสาธารณะหรือทางเข้าถาวรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ กทม.ต้องพิจารณาเอง เพราะเป็นรายละเอียดของการอนุญาต

ขณะที่กรณีสมาคมอาคารชุดไทยหรือภาคเอกชนด้านอสังหาฯ มีข้อเสนอขอให้ปรับแก้ไขข้อกฎหมายควบคุมอาคารในเรื่องขนาดถนนมากไปหรือน้อยไป ยังไม่มีประเด็นที่ต้องไปแก้ ส่วนการสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษได้มากขึ้นในพื้นที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้า ถนน ทางด่วน เป็นเรื่องของผังเมือง กทม.ที่จะต้องกำหนดโซนนิ่งและความสูงอาคาร เพราะ กทม.เป็นผู้จัดทำผังเมืองรวม กทม.เอง