ANAN แจงงบ Q2 ขาดทุน 84.5 ล้าน จ่อตั้งสำรอง"แอชตัน อโศก"Q3

10 ส.ค. 2566 | 17:43 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2566 | 17:50 น.

บมจ.อนันดาฯ (ANAN) เผยงบไตรมาส 2/66 ขาดทุน 84.5 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่ม 95% ( yoy) ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายกรณี"แอชตัน อโศก" จ่อตั้งสำรองไตรมาส 3/66

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN เปิดเผยว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 84.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.1 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (Q2/65 ) ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 43.4 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่ม  94.6%    

ขณะที่ผลดำเนินงานงวด 6 เดือนปี 2566 บริษัทขาดทุนสุทธิ 144.08 ล้านบาท ขาดทุนลดลง 180.61 ล้านบาท หรือลดลง 55.6% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ( 6 เดือนปี 2565 )  ที่ขาดทุนสุทธิ 324.69 ล้านบาท 

 

ANAN แจงงบ Q2 ขาดทุน 84.5 ล้าน จ่อตั้งสำรอง\"แอชตัน อโศก\"Q3

บริษัทแจงถึง ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีขาดทุน สำหรับงวดจากการดำเนินงานในธุรกิจหลัก หรือการดำเนินงานต่อเนื่อง เป็นผลขาดทุนจำนวน 82.2 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวน 74.9 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ลดลง 211.3 ล้านบาท หรือลดลง 30.3% ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจำนวน 41.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.9% และค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 87 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 53.2%

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าดีขึ้น 277.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 144.0 ล้านบาท หรือมากกว่า 100% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทรับรู้รายได้การโอนต่อเนื่องจากโครงการ ไอดีโอ จุฬา - สามย่าน , ไอดีโอ พระราม9 – อโศก

ในไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทมีขาดทุน ที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท เป็นผลขาดทุนจำนวน 84.5 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนของธุรกิจหลักนั้นในไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมี EBITDA เป็นผลขาดทุนจำนวน 81.5 ล้านบาท

ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า

ส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าในไตรมาส 2 ปี 2566 มีผลกำไรจำนวน 277.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 144.0 ล้านบาท หรือมากกว่า 100.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยมีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้รายได้การโอนต่อเนื่องของโครงการคอนโดมินียมในกิจการร่วมค้าคือ ไอดีโอ จุฬา สามย่าน และไอดีโอ พระราม 9-อโศก

รายได้

รายได้รวมในไตรมาส 2 ปี 2566 มีจำนวน 818.2 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวน 211.5 ล้านบาท หรือลดลง 20.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุมาจากการลดลงของรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ 211.3 ล้านบาท หรือ 30.3% และรายได้จากการบริหารโครงการและค่านายหน้าลดลงจำนวน 30.4ล้านบาท หรือ 18.0%
 

ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

ต้นทุนรวมในไตรมาส 2 ปี 2566 มีจำนวน 505.7 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวน 174.6 ล้านบาท หรือลดลง 25.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการลดลงของต้นทุนการขายอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 173.1 ล้านบาท หรือลดลง 31.9%

สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในไตรมาส 2 ปี 2566 เป็นจำนวน 394 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 41.8 ล้านบาท หรือเพิ่ม 11.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยบริษัทมีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขายและการตลาดเพื่อสนับสนุนรายได้ของบริษัท

ค่าใช้จ่ายทางการเงิน

สำหรับในไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายทางการเงินเป็นจำนวน 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 87 ล้านบาท หรือคิดเป็น53.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าโดยมีสาเหตุหลักมาจากการออกหุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้น ในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 4,000 ล้านบาท และภาพรวมต้นทุนของตลาดการเงินที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 บริษัทและบริษัทย่อยมีอัตราสวนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสุทธิ(Net Interest Bearing Debt to Equity Ratio) ตามข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ เท่ากับ 1.72 เท่า ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำ

กรณี แอชตัน อโศก


เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง และดัดแปลงโครงการอาคารชุดที่ออกให้แก่โครงการ แอชตัน อโศก (โครงการ) เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม) ไม่สามารถอนุญาตให้นำที่ดินของ รฟม. ไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นทางเข้าออกของโครงการได้ เพราะเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์การเวนคืน และมีข้อสงวนสิทธิ์ในใบอนุญาตผ่านทาง ทำให้ไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว

ทั้งนี้ แม้ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร แต่ปัจจุบันอนันดา เอ็มเอฟฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่หลายแนวทาง โดยอนันดา เอ็มเอฟฯจะขอเข้าพบหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือ และอนันดา เอ็มเอฟฯ มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ ภายใต้กรอบของกฎหมายได้

ปัจจุบัน บริษัทไม่อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถประเมินจำนวนเงินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนหลายส่วนจากผลกระทบต่อกิจการ ทั้งนี้ บริษัทคาดหวังว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความชัดเจนขึ้น และจะได้พิจารณาแนวทางในการตั้งสำรองในไตรมาสถัดไป