คัดค้าน รัฐบาลใหม่หวนใช้ "ภาษีโรงเรือน" แทน "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"

21 พ.ค. 2566 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2566 | 15:23 น.
2.5 k

เจาะลึก นโยบายก้าวไกล-เพื่อไทย ลดเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย ขณะคนในวงการ เปรย ไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลใหม่ จะหวนใช้ "ภาษีโรงเรือน" แทน "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"

21 พฤษภาคม 2566 - แม้สูตรผสมลงตัว การจัดตั้ง "รัฐบาล" ที่นำโดย พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย กับตำแหน่งผู้ครองเสียงประชาชนข้างมาก ในการเลือกตั้ง ปี 2566 จะยังไม่สำเร็จลุล่วง และประเทศไทย คงได้ยลโฉมนายกรัฐมนตรี และ ชุดรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ ก็ช่วงราวต้นเดือนสิงหาคม หลังผ่านพ้นกระบวนการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี และ การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้วเสร็จ 

อย่างไรก็ตาม คงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นโยบายหาเสียง รื้อ -โละ - เลิก ปฎิรูปโครงสร้างทางธุรกิจ และสังคมหลายด้าน โดยมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะถูกผลักดัน นำมาใช้อย่างแน่นอน จนชวนให้ผู้เสียประโยชน์หลายอุตสาหกรรมผวา ดั่งปฎิกริยา เด้งรับเชิงลบของตลาดหุ้นไทยในยามนี้

ตรวจสอบนโยบายของพรรคก้าวไกล ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ที่อยู่อาศัย" และ "ที่ดิน" พบมีหลายเรื่องที่น่าจับตามอง โดยหลักการ พรรคมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ ภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน เช่น นโยบายบ้านตั้งตัว 350,000 หลัง ระบุ รัฐบาลจะช่วยค่าผ่อนบ้าน สำหรับผู้ซื้อบ้าน-ที่พักอาศัยใหม่เป็นหลังแรก ราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท จำนวน 100,000 ราย  ในอัตรา 2,500 บาท ต่อเดือน เวลา 30 ปี การช่วยค่าเช่าบ้าน-ห้องพัก สำหรับผู้เช่าบ้าน หอพักจำนวน 250,000 ราย ในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือน สำหรับหน่วยที่มีราคาไม่เกิน 4,000 บาท ต่อเดือน 

คัดค้าน รัฐบาลใหม่หวนใช้ \"ภาษีโรงเรือน\" แทน \"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง\"

ขณะเดียวกัน จะมีการผลักดัน เพิ่มการเข้าถึงที่ดินรัฐของประชาชน โดยมีแนวคิดนำที่ดินของรัฐบาลที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น ที่ดินทหาร หรือที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า มาสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนรวมถึง การประกาศ จะคืนที่ดินประชาชน 10 ล้านไร่ เปลี่ยน ที่ดิน สปก. เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรมด้วย

แต่สิ่งที่น่าพิจารณา คือ ฟากฝั่งพรรคเบอร์ 2 ในนามเพื่อไทย เคยแย้มว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดจะเสนอให้ยกเลิกการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และให้หันกลับไปใช้ภาษีโรงเรือนเหมือนเดิม เนื่องจากมองว่าเป็นการออกภาษีอย่างไม่รอบคอบ และไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ

โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ระบุ "ขณะนี้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำลังสร้างปัญหา เพราะหลักการทางภาษีของไทย คือ ความสามารถในการจ่าย ขณะการใช้อัตราภาษีใส่ไปในมูลค่าทรัพย์ ทำให้หน่วยงานที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีโรงเรือนที่ดี  ภาษีกลับลดลงไปมาก ในขณะที่คนที่ไม่เคยต้องจ่าย กลับต้องจ่ายมากขึ้น ไม่ช่วยลดเหลื่อมล้ำ " 

เจาะมุมมองต่อประเด็นดังกล่าว ของคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ "แหล่งข่าว" รายหนึ่งให้ความเห็นว่า มีความน่ากังวล หากพรรครัฐบาล จะมีการยกเลิกการบังคับใช้ภาษีที่ดินฉบับปัจจุบันจริง เนื่องจาก มองว่า ขณะนี้เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับนโยบายของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลก เพียงแต่ไทยติดปัญหา ความไม่พร้อมในการ "จัดเก็บ" เท่านั้น แต่การที่พรรคการเมืองดังกล่าว เสนอให้ถอยกลับไปใช้ภาษีโรงเรือนเดิม ซึ่งมีการยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับ "ที่อยู่อาศัย" ทุกกรณีนั้น มองเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง 

โดยสิ่งที่จะตามมา  คือ การเกิดขึ้นของหมู่บ้านชานเมืองจำนวนมาก แต่ท้องถิ่น อย่าง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะไม่มีรายได้ เพราะไม่สามารถเรียกจัดเก็บภาษีได้ และไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น สาธารณูปโภคต่างๆ ท่ามกลางเมืองขยาย แต่พื้นที่ส่วนกลางกลับเสื่อมโทรมลง 

ขณะภาษีที่ดินฯ ที่มีการเรียกเก็บต่อผู้ประกอบการจัดสรรโครงการนั้น เป็นการดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะ การที่ปัจจุบัน มีการซื้อ-ขายให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติมากขึ้น เงินรายได้ของผู้ประกอบการ ที่ใส่ให้รัฐ จะช่วยลดข้อครหา "ขายชาติ" ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องถอยกลับไปใช้ภาษีโรงเรือนเดิม 

"อย่าลืมว่า ภาษีที่ดินที่ใช้ในปัจจุบัน ไม่มีผลกระทบกับบ้านที่พักอาศัยของคนไทยปกติอยู่แล้ว เพราะถูกยกเว้น ส่วนบ้านแพง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเป็นห่วง คนระดับนี้ เขามีความสามารถในการจ่าย แต่ถ้ากลับไปให้ยกเว้นภาษีกับบ้านทุกหลัง แม้แต่ 100 ล้านบาท แบบนี้ไม่เหมาะสม ผิดหลักการ" 

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล มีนโยบาย ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดิน โดยเสนอพัฒนาระบบภาษีที่ดินแบบรวมแปลง (รวมมูลค่าที่ดินทั้งหมดที่แต่ละบุคคล/นิติบุคคลถืออยู่) แล้วจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า โดยคิดจากมูลค่าที่ดินที่เกิน 300 ล้านบาท และ ลดหย่อนหรือส่วนลดภาษีที่ดินสำหรับพื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ (เช่น พื้นที่สีเขียว พื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ พื้นที่สาธารณะ) ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน (3-10 ปี) เป็นต้น