"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" พบ World Economic Forum แจงนโยบายก้าวไกล

21 พ.ค. 2566 | 13:12 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2566 | 13:17 น.

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ว่าที่นายกรัฐมนตรี พบ World Economic Forum อธิบายแนวนโยบายพรรคก้าวไกล-พร้อมหารือไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับภูมิภาค

เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่ระดับสูงจาก World Economic Forum นาย จู-อค ลี (Joo-Ok Lee) หัวหน้าฝ่ายภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ นาย ปิยะมิตร ชมประสพ รองหัวหน้าฝ่ายภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้เข้าพบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบายพรรคก้าวไกล และคณะทำงานด้านการต่างประเทศ พรรคก้าวไกล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ของพรรค ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และหารือถึงความเป็นไปได้ของความร่วมมือระหว่างไทยและ World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นผู้จัดเวทีการประชุมระดับโลกประจำปีอย่าง Davos World Economic Forum ที่ผู้นำประเทศ นักธุรกิจ นักวิชาการ ตลอดจนผู้นำกิจกรรม จากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจโลก และความท้าทายต่างๆ ที่นานาชาติต้องเผชิญ

หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดประชุมระดับภูมิภาค ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพครั้งสุดท้ายในปี 2012 และ การจัดประชุมกลุ่มย่อยในประเด็นสำคัญเช่น Digital Economy หรือ Creative Economy ในประเทศไทยโดยเฉพาะในเมืองรอง

นอกจากนั้นพิธาได้แสดงจุดยืนถึงนโยบายภายในที่พรรคให้ความสำคัญ คือนโยบาย 3Ds ที่ประกอบด้วย Demilitarize หรือการเอากองทัพออกจากการเมืองไทย ต่อมาคือ Demonopolize หรือการทลายทุนผูกขาด และสุดท้ายคือ Decentralize หรือกระจายอำนาจ

 

 

 

ในด้านนโยบายต่างประเทศ พิธาได้พูดถึงนโยบาย 3Rs ที่ประกอบด้วย Revive (ฟื้นฟู) ความเป็นผู้นำของไทยในอาเซียน และการช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในเมียนมาร์ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย Rebalance (ปรับสมดุล) จุดยืนของประเทศไทยต่อการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจให้ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป และสุดท้ายคือ Recalibrate (ปรับมาตรฐาน) ความเป็นผู้นำและความกระตือรือร้นของการต่างประเทศไทยในเวทีระดับโลก ด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรองผ่านความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไทย โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแข่งขันทางเศรษฐกิจ