โฉนดที่ดิน ถือเป็นเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินประเภทหนึ่ง ที่ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน จะใช้เอกสารดังกล่าว ในการแสดงความเป็นเจ้าของ และใช้ในการประกอบธุรกรรมด้านต่างๆ เช่น ซื้อ ขาย จำนอง เป็นต้น ซึ่งเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินนั้น ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น
- แบบแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)
- ใบจอง (น.ส. 2 ,น.ส. 2ก.)
- หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ,น.ส. 3ก. ,น.ส. 3ข.)
- ใบไต่สวน (น.ส. 5)
- โฉนดที่ดิน
โฉนดที่ดิน สำคัญอย่างไร
โฉนดที่ดิน คือ หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งออกตามประมวลกฎหมายที่ดินปัจจุบัน นอกจากนี้ยังรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" ซึ่งออกตามกฎหมายเก่า แต่ก็ถือว่ามีกรรมสิทธิ์เช่นกัน
บนโฉนดที่ดิน บอกอะไรบ้าง
1.ครุฑ
ครุฑในเอกสารสิทธินั้นมีหลายสี ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงประเภทของเอกสารสิทธิ รวมไปถึงสิทธิที่พึงจะมีในที่ดินแปลงดังกล่าว (อ่าน ก่อนซื้อ "อสังหาริมทรัพย์" ต้องรู้ "สีตราครุฑ" บนโฉนดที่ดิน กันโดนโกง : คลิกที่นี่)
2. ข้อมูลเฉพาะของที่ดิน ประกอบด้วย
- ระวางที่ดิน เป็นการระบุหมายเลขแผ่นของระวางแผนที่ ว่าที่ดินอยู่บนระวางแผนที่แผ่นไหน โดยสำนักงานที่ดินจะมีระวางที่ดิน ซึ่งเป็นแผนที่ของที่ดินทุกแปลงเทียบอยู่บนแผนที่ทางอากาศทำให้สามารถทราบได้ว่าที่ดินนั้นมีเขตติดต่อกับที่ดินแปลงใด มีทางออกสู่ถนนหรือคลองสาธารณะหรือไม่
- เลขที่ดิน เป็นหมายเลขซึ่งใช้ระบุที่ดินแต่ละแปลงในระวางที่ดิน
- หน้าสำรวจ เป็นตัวเลขที่แสดงลำดับการออกสำรวจจัดทำโฉนดที่ดินในแต่ละตำบล หมายเลข
- หน้าสำรวจนี้จะใช้ประกอบการค้นหาข้อมูลของเจ้าพนักงานที่ดิน
- ตำบล ใช้ระบุตำบลที่ที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่
- โฉนดที่ดินเลขที่ เปรียบเสมือนเลขประจำตัวของที่ดินแปลงนั้นๆ ใช้ระบุแปลงที่ดิน และใช้เป็นเลขอ้างอิงในการทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่างๆ
- เล่ม และหน้า เป็นการระบุเล่มและแฟ้มในการจัดเก็บโฉนดที่ดินคู่ฉบับที่ถูกเก็บไว้ ณ สำนักงานที่ดิน
- อำเภอ ใช้ระบุอำเภอที่ที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่
- จังหวัด ใช้ระบุจังหวัดที่ที่ดินแปลงนั้นตั้งอยู่
3. ข้อมูลการจดทะเบียนสิทธิเมื่อออกโฉนด ประกอบด้วย
การระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ที่ถือกรรมสิทธิเป็นคนแรกของที่ดินแปลงนั้นๆ และ ระบุขนาดของที่ดิน ณ วันที่ออกโฉนดที่ดิน ทั้งนี้ ขนาดของที่ดินอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการแบ่งแยกแปลงที่ดินในภายหลัง
4.รูปแผนที่ ระบุรายละเอียด ดังนี้
- มาตราส่วนในระวาง เป็นการระบุมาตราส่วนของรูปแผนที่ที่ถูกแสดงในระวางที่ดิน
- มาตราส่วน เป็นการระบุมาตราส่วนของรูปแผนที่ ที่ถูกแสดงในโฉนดที่ดิน
- สัญลักษณ์ทิศเหนือ เป็นการระบุทิศเหนือเพื่อใช้ในการดูทิศของรูปแผนที่
- เลขที่ดินข้างเคียง ใช้เพื่ออ้างอิงว่าที่ดินซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของตามโฉนดที่ดินฉบับนี้คือที่ดินแปลงใด
- เลขที่ดิน ใช้เพื่อระบุที่ดิน แปลงที่ดิน ตามโฉนดที่ดินฉบับนี้ โดยจะปรากฏเลขที่ดินอยู่ในกรอบเส้นที่แสดงขอบเขตที่ดิน
- ทางสาธารณะประโยชน์ หรือลำรางสาธารณะประโยชน์ ใช้ระบุว่าที่ดินตามโฉนดติดกับทางสาธารณะประโยชน์ หรือลำรางสาธารณะประโยชน์ จากขอบเขตที่ดินในด้านใดบ้าง
- หมายเลขหมุดเลขที่ดิน ใช้ในการอ้างอิงหมุดเขตที่ดินที่ถูกฝังลงในพื้นที่แปลงที่ดิน โดยจะเป็นตัวกำหนดอาณาเขตที่ดินแปลงนั้น โดยหมุดที่ดินในปัจจุบันมี 2 รูปแบบคือ แบบแท่งคอนกรีต กับแบบแผ่นทองเหลือง
- การวัดระยะในรูปแผนที่ เราสามารถใช้ไม้บรรทัดวัดที่รูปแผนที่เพื่อคำนวนระยะความกว้างของที่ดินจริง โดยคำนวณตามมาตราส่วนที่ระบุไว้
5. วันที่ออกโฉนด เป็นการระบุวันที่ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกเอกสารสิทธิ
6. สารบัญการจดทะเบียน(ด้านหลังโฉนดที่ดิน)
การทำนิติกรรมใดๆกับอสังหาริมทรัพย์นั้น กฎหมายระบุให้ต้องทำการจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่จะสลักหลังนิติกรรมที่ได้จดทะเบียนในวันนั้นๆ หากไม่ทำการจดทะเบียนจะถือว่านิติกรรมนั้นๆเป็นโมฆะ รายละเอียดที่ระบุในสารบัญการจดทะเบียน (ด้านหลังโฉนดที่ดิน) มีดังนี้
- จดทะเบียน วัน เดือน ปี เป็นส่วนที่ระบุวัน เดือน ปี ที่ทำการจดทะเบียนนิติกรรมนั้นๆ
- ประเภทการจดทะเบียน เป็นส่วนที่ระบุประเภทนิติกรรมที่ได้จดทะเบียนขึ้นในวันนั้นๆ ซึ่ง
- ผู้ให้สัญญา เป็นส่วนที่ระบุชื่อ-สกุลผู้ให้สัญญา
- ผู้รับสัญญา เป็นส่วนที่ระบุชื่อ-สกุลผู้รับสัญญา
- เนื้อที่ดินตามสัญญา เป็นส่วนที่ระบุเนื้อที่ดินซึ่งที่นิติกรรมในวันนั้นๆ
- เนื้อที่ดินคงเหลือ เป็นส่วนที่ระบุเนื้อที่ดินซึ่งคงเหลือหลังจากทำนิติกรรมในวันนั้นๆ เช่นหากนิติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการแบ่งแยกแปลงที่ดินออกเป็นสองแปลง จะระบุเนื้อที่ดินที่ถูกแบ่งแยกออกไปในช่องเนื้อที่ดินตามสัญญา และจะระบุเนื้อที่ดินคลเหลือหลังจากแบ่งแยกแปลงที่ดินออกไปในช่องเนื้อที่ดินคงเหลือ
- ระวางเลขที่โฉนดที่ดินใหม่ ในกรณีที่มีการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงใหม่เจ้าหน้าที่จะทำการระบุเลขระวางโฉนดที่ดินของที่ดินแปลงใหม่ เพื่อใช้อ้างอิงในการสืบค้นว่าที่ดินที่ถูกแบ่งแยกออกไปเป็นโฉนดที่ดินเลขที่เท่าใด
- เจ้าพนักงานที่ดิน ลงลายมือชื่อ ประทับตรา เป็นส่วนที่ใช้ในการยืนยันว่าการจดทะเบียนนิติกรรมนั้นๆได้ทำการจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยยืนยันจากลายมือชื่อของเจ้าพนักงานที่ดิน และตราประทับของสำนักงานที่ดิน
ทั้งนี้ ในพ.ศ.2451 ได้มีการออกพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) ซึ่งได้รวบรวมการดำเนินการเรื่องที่ดินแต่ดั้งเดิมหลายฉบับไว้เป็นฉบับเดียว และถือเป็นมูลฐานของกฎหมายเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินต่อมา และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินอีกหลายฉบับ โดยฉบับสุดท้ายคือพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2479 ซึ่งได้วิวัฒนาการ จนเป็นประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ใช้บังคับเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดิน และหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา : กรมที่ดิน