รู้จัก สีที่ดิน และผังเมือง ก่อนซื้ออสังหาริมทรัพย์

21 ก.พ. 2566 | 05:43 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2566 | 06:40 น.
8.3 k

ก่อนตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อการลงทุน หรือเพื่อการอยู่อาศัย ต้องทำความรู้จักสีที่ดิน และสีผังเมือง ให้ชัดเจน อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ พร้อมช่องทางตรวจสอบสีที่ดิน และสีผังเมือง

สำหรับใครที่มองหาอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าเพื่อการลงทุน หรือเพื่อการอยู่อาศัยก็ตาม ย่อมต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆประกอบการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นความชอบส่วนตัว กำลังซื้อ สิ่งแวดล้อมโดยรอบ เป็นต้น และอีกหนึ่งปัจจัยที่มองข้ามไปไม่ได้ โดยเฉพาะนักลงทุนนั่นก็คือ สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง

สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง คืออะไร

สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง ถูกออกแบบและกำหนดโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด วัตถุประสงค์ก็เพื่อ  กำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ หรือการพัฒนาในพื้นที่ ตามแนวความคิดและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาของแต่ละเมือง

โดยคํานึงถึงความเป็นระเบียบความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชน เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ การดํารงรักษาสถานที่ทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี และการจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยกำหนดรายละเอียดไว้ใน พระราชบัญญัติการผังเมือง


 

สีของที่ดิน หรือสีของผังเมือง ที่ต่างกันกำหนดอะไร

พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2558 กำหนดให้ปฏิบัติ หรือไม่ให้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวม มีการกำหนดรายละเอียดโดยคำนึงถึง ปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ประเภท และขนาดกิจการที่จะดำเนินการ
  • ประเภท ชนิด ขนาด ความสูง และลักษณะของอาคารที่จะสร้าง
  • อัตราส่วนพื้นที่อาคาร รวมกันทุกชั้นของอาคารทุกหลัง ต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร
  • อัตราส่วนพื้นที่อาคารปกคลุมดิน ต่อพื้นที่แปลงที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคาร
  • อัตราส่วนพื้นที่ว่าง อันปราศจากสิ่งปกคลุมของแปลงที่ดิน ที่อาคารตั้งอยู่ต่อพื้นที่ใช้สอยรวมของอาคาร
  • ระยะถอยร่นจากแนวธรรมชาติ ถนน แนวเขตที่ดิน อาคาร หรือสถานที่อื่น ๆ 
  • ขนาดของแปลงที่ดินที่จะอนุญาตให้สร้างอาคาร
  • ข้อกําหนดอื่นที่จําเป็น โดยรัฐมนตรีประกาศกําหนดตามคําแนะนําของคณะกรรมการผังเมือง

สีที่ดิน สีผังเมือง

ความหมายของสีพื้นที่ สีผังเมือง

เขตสีเหลือง   คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย(ย.1- ย.5)

เขตพื้นที่นี้เป็นเขตที่สนับสนุนให้พัฒนา อาคารสงเคราะห์รับเลี้ยงสัตว์, สถานศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา, สถานพยาบาล, สถานสงเคราะห์รับเลี้ยงเด็ก, คนชรา, ผู้พิการ และยังสามารถสร้าง ที่อยู่อาศัย , อาคารพาณิชยกรรม , สำนักงาน, โรงแรม และ ตลาดได้อีกด้วย

โดยที่ดิน ย.1 สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว ,ที่ดิน ย.2 เป็นต้นไป สร้างทาวน์เฮาส์ได้ ,ที่ดิน ย.3 เป็นต้นไปสามารถสร้างอาคารชุดขนาดเล็กและกลางได้ ,ที่ดิน ย.4 ให้ความสำคัญกับพื้นที่ชานเมืองที่อยู่ในเขตให้บริการของระบบขนส่งมวลชน

เขตสีส้ม คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5-ย.7)

พื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ ถ้าเป็นอาคารชุดที่มีเนื้อที่เกิน 10,000 ตารางเมตร จะต้องตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 30 เมตร หรืออยู่ในระยะ 500 เมตรจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

 

เขตสีน้ำตาล คือ ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.8-ย.10)

พื้นที่ในบริเวณเมืองชั้นใน ความหนาแน่นของการอยู่อาศัยสูง สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ทุกรูปแบบ เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูง 

ที่ดินรหัส ย.8 จะเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาทัศนียภาพ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ที่ดินรหัส ย.9 จะเน้นที่บริเวณเมืองชั้นใน และอยู่ในเขตการให้บริการของระบบขนส่งมวลชน
ที่ดินรหัส ย.10 จะเป็นบริเวณของเมืองชั้นในซึ่งเป็นรอยต่อกับย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง อีกทั้งยังอยู่ในเขตให้บริการของระบบขนส่งมวลชน


เขตสีแดง คือ ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (พ.1-พ.5)

พื้นที่ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อการพาณิชย์ เช่น ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การบริการ และนันทนาการ โดยสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ และมีข้อจำกัดน้อยที่สุด

สีที่ดิน สีผังเมือง


เขตสีม่วง ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (อ.1-อ.3)

สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ เช่น บ้านเดี่ยว หอพัก หรือคอนโดมิเนียมขนาดเล็ก รวมถึงสร้างร้านค้าได้ แต่ไม่สามารถสร้างอาคารสูงกับอาคารชุดขนาดใหญ่ได้ 

 

เขตสีเม็ดมะปราง  ที่ดินประเภทคลังสินค้า

ใช้เป็นพื้นที่คลังสินค้าสำหรับการขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เขตสีม่วงอ่อน ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ

เขตสีเขียว ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม

เขตสีเขียวมะกอก  ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา

เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทะแยงสีเขียว ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

เขตสีน้ำตาลอ่อน  ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย

เขตสีเทา  ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา

เขตสีน้ำเงิน  ที่ดินประเภทสถาบันราชการ กราสาธารณูปโภคและสาธารณุปการ

 

วิธีตรวจสอบสีที่ดิน สีผังเมือง

สามารถนำเลขที่โฉนด มาตรวจสอบสีที่ดิน สีผังเมืองได้ ที่เว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

คลิกที่นี่ : ตรวจสอบสีที่ดิน สีผังเมือง