CPN ผุดยักษ์มิกซ์ยูสสร้างอาณาจักร พหลโยธิน

19 ม.ค. 2566 | 16:45 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ม.ค. 2566 | 17:24 น.
2.9 k

ยักษ์เซ็นทรัล CPNเขย่าทำเลทอง ย่านพหลโยธิน สร้างอาณาจักร ผุดมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่เซ็นทรัล 2 เชื่อม เซ็นทรัลลาดพร้าว บนที่ดินรถไฟซีอีโอ CPN ลั่นไม่ทิ้งห้าแยกลาดพร้าว

 

 

 

ย่านพหลโยธิน ทำเลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวลุกเป็นไฟ เมื่อยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือCPN ลงมือก่อสร้าง เมืองมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ หรือถูกขนานนามว่าเช็นทรัล 2 บนที่ดิน เนื้อที่เกือบ 50 ไร่ บริเวณสถานีพหลโยธิน 24 ตรงข้ามแดนเนรมิตเก่า ซึ่งที่ผ่านมาได้ซื้อที่ดินแปลงนี้ต่อมาจาก บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือBTS

จุดพลุอาณาจักร ชื่อมโยงศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวขุมทองคำของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ห้าแยกลาดพร้าว แลนด์มาร์ค สำคัญทางตอนเหนือกรุงเทพมหานคร ที่มีแนวโน้มว่า CPN จะต่ออายุสัญญา ส่งผลให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงรับการพัฒนาตลอดแนว

ขณะความคึกคักพื้นที่โดยรอบ มีโครงการขนาดใหญ่ โรงแรมคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานใหม่ โอบล้อมปลุกที่ดินโดยรอบมีชีวิตชีวา เชื่อมโยงระหว่างกัน หากเซ็นทรัล2แล้วเสร็จเปิดให้บริการ จะสร้างมูลค่าให้กับพื้นที่อย่างมหาศาล เพิ่มความสะดวกสบายให้กับคนอยู่อาศัยและทำงานในย่านดังกล่าว

CPN ผุดยักษ์มิกซ์ยูสสร้างอาณาจักร พหลโยธิน

นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ CPN เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้แจ้งต่อตลาด หลักทรัพย์เพื่อลงทุนโครงการรูปแบบมิกซ์ยูส บนที่ดินแปลงพหลโยธิน ในเฟสที่ 1 มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท

เมื่อช่วงปลายปีซึ่งเป็นโครงการ ขนาดใหญ่ตามแผนยุทธศาตร์ เพราะมองว่าเป็นทำเลศักยภาพ เนื่องจากมีรถไฟฟ้าผ่าน ขณะเดียวกันมีการเปิดประเทศผ่อนคลายสถานการณ์โควิด-19 เมื่อแล้วเสร็จเปิดให้บริการจะส่งผลดีต่อพื้นที่ ขณะที่ดินรถไฟที่จะหมดอายุสัญญาลงในปี 2571 

บริษัทยืนยันว่าไม่คิดจะทิ้งและต้องการต่อสัญญาต่อเนื่องเพียงต้องรอสัญญาณจากภาครัฐเนื่องจากเซ็นทรัลลาดพร้าวบริษัทได้พัฒนาต่อเนื่องมากว่า 40 ปี และยังมองว่าเป็นแลนด์มาร์คอันดับหนึ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้

“กระแสข่าวลือเซ็นทรัลลาดพร้าว กรณีไม่ต่อสัญญา CPN ไม่เคยคิดทิ้ง คือเราไม่เคยบอกว่าไม่ทำ แต่ แน่นอนว่าต้องรอภาครัฐให้สัญญาณซึ่งที่ผ่านมาได้พัฒนาเซ็นทรัลลาดพร้าวมาอย่างต่อเนื่องและปักหลักมากว่า 40 ปี เป็นทำเลที่เราเข้าใจผู้บริโภค เป็นทำเลอันดับหนึ่งที่มีศักยภาพ”นางสาววัลยากล่าว

วัลยา จิราธิวัฒน์

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถาม ผู้ควบคุมการก่อสร้างระบุว่า อยู่ระหว่าง ก่อสร้างเสาเข็มและกำแพงคันดินเริ่มตั้งแต่ เมื่อวันที่1 ธันวาคม 2565 และสิ้นสุดการก่อสร้างในช่วงนี้ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566 ลำดับต่อไปโดยมีแผนพัฒนาเป็น โครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์

ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคารห้องประชุมโรงมหรสพสถานศึกษา สำนักงาน ตลาดและจอดรถยนต์ สูง 7 ชั้นโดยมีชั้นใต้ดิน 3ชั้น ขณะใบอนุญาตก่อสร้าง (อ.1) เลขรับที่ 228/ 2565 ออกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 โดยมีบริษัทเบย์วอเตอร์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก เริ่มการก่อสร้าง

โดยเป้าหมายคาดว่าจะแล้วเสร็จราวปี2571 มีทั้งห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียมอาคารสำนักงานซึ่งเป็น ปีที่เซ็นทรัลลาดพร้าวหมดสัญญากับการรถไฟพอดี โดยมีแผนพัฒนา 2 เฟส มูลค่ารวม 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริเวณนี้จะเป็นอีกแลนด์มาร์คใหม่เชื่อมโยงระหว่างกันกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว

หากยังต่อสัญญากับ การรถไฟฯ ทั้งนี้ผู้ควบคุมงานยังระบุว่า เชื่อว่า CPNจะยังต่อสัญญากับการรถไฟฯเพราะเมื่อรถไฟฟ้าเชื่อมถึงการพัฒนาคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นกำลังซื้อจะมารอบทุกสารทิศ

ด้าน รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ส่วนการต่อสัญญาเช่าที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธิน เนื้อที่ 47.22 ไร่ พัฒนาเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ของบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ตั้งแต่ปี 2521

ครบสัญญารอบแรก 30 ปี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2551 หลังจากนั้นได้มีการเจรจาต่อสัญญาอีก 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2551-วันที่ 18 ธันวาคม 2571 โดยรฟท.ได้ผลตอบแทนคิดเป็นวงเงินรวมตลอดอายุสัญญา 21,298 ล้านบาท ปัจจุบันเอกชนยังมีความสามารถในการชำระค่าเช่าตามสัญญาที่กำหนด ซึ่งมีการกำหนดชำระทุกวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกๆปี

ทั้งนี้การชำระค่าเช่าโครงการฯดังกล่าว รฟท.ได้ค่าเช่าระหว่างปี 2551-2561 รวมวงเงิน 8,668 ล้านบาท โดยปี 2562 ชำระแล้ว จำนวน 1,036 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ชำระแล้ว จำนวน 1,165 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 ชำระแล้ว จำนวน 1,234 ล้านบาท และในปี 2565 จะครบกำหนดชำระวันที่ 18 ธันวาคมประมาณ 1,300 ล้านบาท

รายงานข่าวจากบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกรฟท.  กล่าวถึงการต่อสัญญาเช่าที่ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าวว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้มีการหารือกับเอกชนในการต่อสัญญาเพิ่มเติม เนื่องจากจะสิ้นสุดสัญญาเช่าถึงปี 2571 ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี ก่อนจะสิ้นสุดสัญญาเช่า บริษัทจะมีการจ้างศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดของสัญญาเช่าดังกล่าวก่อน 

“ส่วนความเป็นไปได้ในการให้เอกชนรายอื่นเช่าพื้นที่แทนเซ็นทรัลนั้น คงต้องมีการจ้างศึกษารายละเอียดของสัญญา เช่นรายได้,ค่าเช่า,ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ซึ่งบริษัทจะใช้ข้อมูลจากการศึกษาในครั้งนี้เพื่อเป็นฐานในการเจรจาต่อรองสัญญาเช่าที่ดินของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว กับเซ็นทรัล หากทางเซ็นทรัลไม่สามารถรับเงื่อนไขได้ก็คาดว่าจะมีการเปิดประมูลให้เอกชนรายอื่นเช่าแทน ซึ่งจะทำให้ค่าเช่าที่ในอนาคตเพิ่มขึ้นตามราคามูลค่าทรัพย์สินที่ดิน”

โครงการเซ็นทรัล2 พหลโยธิน