“เศรษฐา ทวีสิน” ซีอีโอสายคอลเอ้าท์ วาดฝัน เศรษฐกิจ-การเมือง

02 พ.ย. 2565 | 09:30 น.

“เศรษฐา ทวีสิน” ซีอีโอสายคอลเอ้าท์ ขวัญใจคนรุ่นใหม่ วาดฝัน เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง การเมืองควรให้ความเสมอภาคทุกภาคส่วน

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ , หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ  รายการ “Nation Insight” สัมภาษณ์พิเศษโดย 2 บรรณาธิการใหญ่เครือเนชั่น นายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร และ นายบากบั่น บุญเลิศ  เมื่อวันที่ 31 ต.ค. เวลา 17.30 น. ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำบทสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน  ซึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นักธุรกิจวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแบบสร้างสรรค์ และ ถูกพรรคเพื่อไทย ตีตราจองนั่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดลงบรรทัดถัดจากนี้

 

 

นักธุรกิจที่ทางการเมืองพูดถึงจะเป็นแคนดิเดตนายกของพรรคเพื่อไทย

  • คนรู้จักก็ถามทุกคนเรื่องนี้ ผมเหมือนเดิมทุกอย่าง ทำงานเหมือนเดิม เสาร์-อาทิตย์ ก็ยังไปตรวจไซต์เหมือนเดิม บี้ยอดโอน บี้ยอดขาย ดูเรื่องแบรนด์ดิง ดูเรื่องทำการตลาดของบริษัท ดูเรื่องความเป็นอยู่ของพนักงานเหมือนเดิม วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็แบบสร้างสรรค์

 

  • สำหรับธุรกิจอสังหาฯเป็นหน้าที่ที่ผมทำอยู่ก็คือในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ เราเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ล้อไปอย่างชัดเจนกับเรื่องของ GDP ถ้าเกิด GDP โตเราก็โต เราไม่มีทางสวนกับ GDP ได้ เพราะฉะนั้นความหวังดีของผม อยากให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต เพราะธุรกิจของบริษัทก็ดีด้วย พนักงานที่ผมรับผิดชอบอยู่ 4,000 กว่าคน องคาภยพทั้งหลาย จะเป็น supplier จะเป็นลูกค้า จะเป็นผู้รับเหมา เหล่านี้ก็ได้อานิสงส์ไปด้วยเหมือนกัน

 

 

 

เศรษฐา ทวีสิน

ผู้นำประเทศควรมีลักษณะอย่างไร

  • การปกครองระบอบประชาธิปไตย  ผู้นำประเทศสูงสุดจะมาได้ต้องมาจากประชาชน เพราะฉะนั้นการเอาประชาชนเป็นที่ตั้งสำคัญ ประชาชนเลือกใคร เลือก ส.ส. ไปเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด เพราะฉะนั้น  ผู้นำสูงสุด หัวหน้าคณะรัฐบาล ผมว่าต้องฟังเสียงจาก ส.ส.  (เพราะ ส.ส. คือที่มาจากประชาชน) ไม่มีทางที่จะไปจังหวัดนครราชสีมาแล้วก็ฟัง 15 ล้านเสียงได้ อะไรที่ทำได้ อะไรที่ฟังได้ เข้าถึงได้ ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องของ inclusive เรื่องของการที่ต้องฟังจากประชาชน ไม่ใช่จาก ส.ส. อย่างเดียว จากนักธุรกิจ จาก NGO จากผู้สื่อข่าว จากทุกๆ สถาบัน

 

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงความคาดหวังในตัวคุณเศรษฐา  ทั้งๆ ที่อายุ 60 แล้ว

  • เรื่องนี้เป็นเรื่องที่บอบบาง ผมว่าถ้าเกิดผมเริ่มคิดอย่างนั้นเมื่อไหร่แสดงว่าผมเริ่มหลงในสิ่งที่ผมอยากได้ยิน แต่จริงๆ เสียงที่ผมควรจะได้ยินมากที่สุดก็คือเสียงที่ไม่อยากได้ยิน สมมติคุณไปเป็นนายก ไปเป็นรัฐมนตรีอะไรก็ตามที คุณทำอย่างนี้ไม่ได้นะ อันนี้ผมจะเงี่ยหูฟัง แต่มีสายคอลเอาต์ เป็นคนรุ่นใหม่เยอะๆ เริ่มแฮปปี้ อันนี้ผมว่าไม่ใช่แล้ว ผิดแล้ว ผมไม่เคยฟังเสียง บางทีเสียงที่ไม่ได้อยากได้ยิน  เป็นเสียงที่ควรจะฟังมากที่สุด

 

นิสัยคนไทยอยากฟังสิ่งที่ตัวเองอยากจะฟัง พอสิ่งอื่นที่อยากจะฟังกลับไม่ฟัง

  • บางทีคนมันเหนื่อย ๆ ขึ้นมาก็อยากที่จะฟังอะไรหวานๆ บ้าง ฟังอะไรที่มันชะโลมจิตใจก็มีบ้าง แต่ว่าถ้าเกิดติดใจขึ้นมามันฟังอยู่ตลอดเวลามันก็เคลิ้มๆ ไปเหมือนกันนะ วันนี้ผมเป็นแค่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทไซส์ขนาดกลางบริษัทนึงเท่านั้นเอง ผมว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็โอเคแล้ว ลูกผมก็สบาย เรียนจบโรงเรียนดีๆ หมดแล้ว มีหน้าที่การงานที่ดีแล้ว แล้วผมก็หวังว่าคู่ค้าของผมก็แฮปปี้กับการทำงานร่วมกับผม พนักงานผมก็มีความสุข shareholder ผมก็รีเทิร์นได้เหมาะสม อาจจะมีบางคนต้องการมากกว่า 

 

  • เวลาผมบริหารงานผมก็มีอยู่ 4 เสา คือ ผู้ถือหุ้น ผมก็ต้องเดลิเวอร์ optimum return ให้กับเขา ลูกค้าผมก็ต้องให้สินค้าที่ดี พนักงานผมก็ต้องให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม แล้วก็อีกอันนึงซึ่งระยะหลังผมให้ความสำคัญค่อนข้างมาก คือ เรื่องของสังคม การคืนประโยชน์ให้สังคม ซึ่งจริงๆ แล้วคนก็พยายามไปโยงกับการเมือง แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เราทำมานานแล้ว แล้วผมก็อยากจะเรียกร้องให้หลายๆ ฝ่ายเข้ามาทำกันมากขึ้น  โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ 

 

การเมืองในอุดมคติที่อยากเห็นคืออะไร

  • การเมืองก็ประกอบด้วยรัฐสภา ผมอยากให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นกระจกสะท้อนความต้องการของประชาชนที่ชัดเจน ให้ความยุติธรรม ให้สิทธิเสรีภาพที่มีความเท่าเทียม เสมอภาค แล้วก็ให้สิทธิทุกคนที่ถูกต้องตามกฎหมายที่พึงจะได้ เสรีภาพในแง่ของการเลือก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพศสภาพ เหล่านี้คือภาพรวมกว้างๆ ที่อยากให้เป็น