วิธีคิด "เศรษฐา ทวีสิน" กับ ซุปเปอร์แลนด์สไลด์เลือกตั้ง 2566

01 พ.ย. 2565 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 03:28 น.
1.2 k

วิธีคิด “เศรษฐา ทวีสิน” ผู้นำความคิดกับซุปเปอร์แลนด์สไลด์เลือกตั้ง 2566 ย้ำผู้นำประเทศ ต้องฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนเพื่อนำมาปรับปรุง

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565  จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  ให้สัมภาษณ์ "หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ,หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  และ รายการ “Nation Insight” โดยให้สัมภาษณ์พิเศษ  2 บรรณาธิการใหญ่เครือเนชั่น นายวีระศักดิ์ พงศอักษร และ นายบากบั่น บุญเลิศ  ซึ่งออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เวลา 17.30 น.

 

ชื่อของ  "เศรษฐา"  ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในสนามการเมืองกับพรรคเพื่อไทย  ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยประกาศแลนด์สไลด์จะชนะเลือกตั้งปี 2566  ในบทสัมภาษณ์บางช่วงบางตอนใน รายการ "“Nation Insight”   “เศรษฐา ”  ได้พูดถึงวิธีคิดผู้นำประเทศไว้อย่างน่าสนใจ

 

 

การเมืองในอุดคติ

การเมืองในอุดมคติ ในมุมมองของ เศรษฐา คือ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ผู้นำประเทศสูงสุดจะมาได้ต้องมาจากประชาชน เพราะฉะนั้นการเอาประชาชนเป็นที่ตั้งสำคัญ ประชาชนเลือกใครเป็น ส.ส. ไปเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด เพราะฉะนั้น ผู้นำสูงสุด หัวหน้าคณะรัฐบาล ต้องฟังเสียงจาก ส.ส. ในฐานะผู้นำรัฐบาลก็มีขีดจำกัดในการที่จะทำได้หลาย ๆ เรื่อง หลายๆ อย่าง แต่อะไรที่ทำได้ อะไรที่ฟังได้ เข้าถึงได้ เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องของ inclusive เรื่องของการที่ต้องฟังจากประชาชน ไม่ใช่จาก ส.ส. อย่างเดียว จากนักธุรกิจ จาก NGO จากผู้สื่อข่าว จากทุกๆ สถาบัน

 

ผู้นำต้องเป็นผู้ฟังที่ดีแต่ไม่ใช่ว่าฟังแล้วเพิกเฉย

“เศรษฐา” ระบุชัดเจนว่า ผู้นำต้องเป็นผู้ฟังที่ดี แต่ไม่ใช่ว่าฟังเฉย ๆ ฟังแล้วต้องกลั่นกรอง ต้องไตร่ตรองให้ดี แล้วก็ต้องมี action plan ออกมา คือ ไม่ใช่ฟังแบบฟัง ๆ ไปแล้วเดี๋ยวเขาก็จะได้สบายใจ แต่ฟังเขาเรียกร้องมา 10 ข้ออาจจะทำได้ 3 วันนี้ บางวันอาจจะทำได้ 10 บางวันอาจจะทำได้ 1 แต่ก็ต้องทำไป  เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วต้องฟังประชาชนเป็นหลัก อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดนะผมว่า

เศรษฐา ทวีสิน

อดีตไม่เคยคิดลงสนามการเมือง

เศรษฐา ตอบว่า ไม่เคยเข้าสมัครในพรรคการเมือง  ต้องเรียนตามตรง เพราะว่าครอบครัวผมมาจากพ่อค้าคนจีน แม้คุณพ่อผมจะเป็นทหารมาก่อน  แต่ท่านก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ผม 3 ขวบ เพราะฉะนั้นเรื่องของการเมืองจริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่ในหัว แต่ว่าหน้าที่ในฐานะพลเมืองคนไทย หน้าที่ที่อยากเห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดีถือว่าเป็นหน้าที่ของคนไทย หุ้นส่วนประเทศคนนึง โดยส่วนตัวมีความเชื่อทางด้านเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย

 

เปิดใจคนเพื่อนเยอะเป็นที่มาปรากฏชื่อพรรคการเมือง

ส่วนสาเหตุที่พรรคการเมืองสนใจอยากจะให้ "เขา" เข้าไปทำงานการเมืองด้วยนั้น  เศรษฐา มองว่า เรื่องสำคัญที่สุด คือ ผมเป็นคนมีเพื่อนเยอะ แล้วก็อาจจะเป็นเรื่องของความใหม่ very refreshing มากกว่าในแง่ของความคิด ในแง่ของวิธีการนำเสนอ ในแง่ของวิธีการพูด ในฐานะที่เป็นคนที่อยู่ในวงการธุรกิจมานาน หน้าที่ในการที่จะช่วยเหลือประเทศชาติมันก็มีหลาย ๆ บริบทที่เราก็สามารถทำได้ เป็นนักธุรกิจปัจจุบัน เป็นนักสังคมสงเคราะห์ หรือ จะเป็นนักการเมืองก็ได้ เราไม่ได้ปิดกั้น แต่ว่ามันต้องอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ที่มาที่ไปต้องถูกต้อง

 

“ผู้นำก็ต้องมีวัยวุฒิที่พอสมควร มีประสบการณ์ในสายงานที่ท่านๆ ทั้งหลายได้มา ไม่ว่าจะเป็นทหาร ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หรือว่านักสังคมสงเคราะห์ก็ตามที เหล่านี้ผมเชื่อว่าทุกท่านเองก็มีวิจารณญาณที่ดีพอสมควรอยู่แล้ว ก็ต้องไตร่ตรอง ผมว่าสำคัญที่สุด ระยะหลังผมมีความรู้สึกว่าเราอาจจะยังขาดอยู่บ้าง คือผู้นำต้องทำสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าสิ่งที่ถูกใจ บางเรื่องต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่อาจจะไม่ค่อยป๊อบปูลาร์เท่าไหร่ มันก็ต้องมีบ้าง”

 

“รัฐธรรมนูญ” มีทั้ง เห็นด้วย- ไม่เห็นด้วย

 

ในส่วนรัฐธรรมนูญถึงแม้จะบังคับอยู่ปัจจุบัน ยังไงก็เป็นกฎกติกาที่ตกลงจะอยู่ร่วมกัน ถึงแม้จะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย เราต้องเคารพ ในส่วนตัวผมผมก็เคารพ แต่ถ้าถามว่าเห็นด้วยไหม เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง บางเรื่องอย่างเช่นเรื่อง ส.ว. ผมไม่เห็นด้วย เพราะเลือกโดยคน 10 คน แล้วก็มีเสียงตั้ง 250 เสียง เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ได้บอก ต้องยืนยันว่าไม่ได้บอกว่า ส.ว. ไม่มีความสามารถ เป็นคนไม่ดี แต่ที่มาที่ไปไม่ถูกต้อง  อันนี้ก็เป็นข้อนึงของรัฐธรรมนูญที่ผมคิดว่ายังมีทางแก้ไขได้

 

ปากท้องปัญหาชาติ

ปัญหาปัจจุบันของประเทศ คือเรื่อง ปากท้อง เป็นเรื่องปากท้อง สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ความเสมอภาค เอาเรื่องปากท้องก่อน เรื่องของปากท้อง  มันโยงใยกับเรื่องอะไร กับ เรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ถ้าเกิดเอาการเมืองนำ บางเรื่องเศรษฐกิจก็ไปไม่ได้  ถ้าเกิดจะเปลี่ยนวิธีการคิด เอาเศรษฐกิจนำ-การเมืองตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าตามตลอดไป ต้องบริหารความคาดหวังทุกฝ่ายให้ดี ต้องวางโรดแมพให้ชัดเจน ต้องมีการเบรกเป็นช่วง ๆ ไป ไม่ใช่บอกว่าอีก 5 ปีจะเป็นยังไง ปีที่หนึ่ง เดือนที่ 18 เดือนที่ 24 จะเป็นยังไง จะได้บริหารความคาดหวังกันดี ไม่มีการเหมือนกับมาขายฝัน

 

เศรษฐา มองว่า การบริหารความคาดหวัง การสื่อความกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละเรื่องถือว่ามีความสำคัญ เช่น นายกฯหรือว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจจะออกมาตรการอะไรมา บางทีอาจจะมีทั้งบวกและลบ มันมี 3-4 เสาหลักที่เราต้องไปคิดให้ดี  หนื่ง คือ คนที่ช่วยคุณสื่อความได้ดีที่สุดก็คือ สื่อ ต้องไปอธิบายให้สื่อฟังก่อน สื่อหลัก ๆ แล้วก็รับฟัง เพราะว่าถ้าเกิดสื่อบอกว่าท่านนายก ตรงนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ๆ นะ แล้วเราปรับปรุงตามบริบทของคำแนะนำหรือว่าผลลัพธ์ที่มันจะออกมาใช่หรือไม่

 

สอง ก็คือถ้าเกิดมันเกี่ยวข้องกับทาง NGO ภาคประชาคม ก็ต้องอธิบายให้ฟัง การสร้างโรงไฟฟ้าจะเป็นยังไง ผลกระทบจะเป็นยังไง ไม่ใช่เขาอ่านจากหนังสือพิมพ์ ทุกคนต้องได้รับการให้เกียรติ ถ้าเกิดจะไปเอฟเฟกต์ กับ ส.ส. พื้นที่ ก็ต้องไปคุยกับประชาชน คุณก็ต้องไปคุยกับหัวหน้าครอบครัว หรือ อะไรก็ว่ากันไป หรือถ้าจะไปเอฟเฟกต์กับนักธุรกิจ จะไปออกมาตรการภาษีขึ้นมา ขึ้นภาษีตรงนั้นตรงนี้ คุณจะเดือดร้อนตรงนี้ ต้องอธิบายให้เขาฟัง แล้วเขาอาจจะมีข้อแนะนำที่ไปปรับ เพื่อเอามาปรับเป็นมุมมองไป คือ อย่าถือยศถืออย่างว่าเราเป็นผู้นำประเทศ ฉันจะทำอะไรฉันก็ทำ มันเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เราได้เสียงข้างมากมาแล้ว หรือจะเป็นใช้คำว่าแลนด์สไลด์หรืออะไรก็ว่ากันไป.