‘ไฮสปีด-เมืองการบิน’เดินหน้า เพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงลงทุน

13 ส.ค. 2565 | 08:17 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2565 | 17:19 น.
996

อีอีซีบูมสนั่น ไฮสปีดเจรจาลงตัว ตอกเข็มพร้อมอู่ตะเภา ต.ค. นี้  ชง กพอ.-ครม.เคาะแก้สัญญา ลุยออกระเบียบ เพิ่มสิทธิประโยชน์ เมืองการบิน

 

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)โครงการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด หนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ผลักดัน ให้เขตอีอีซี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่

 

 

โดยอาศัยการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมือง เพื่อดึงดูดนักลงทุนในพื้นที่พิเศษใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศ ด้วยกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูงเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเปิดประตูเศรษฐกิจสำคัญเชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทวีปเอเชีย

 

2โปรเจ็กต์ยักษ์เดินหน้าบูมอีอีซี

 

 

ขณะความคืบหน้าของอภิโปรเจ็กต์ หัวใจหลักของอีอีซีทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  รวมถึงโครงการสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินภาคตะวันออกมีความพร้อมลงมือก่อสร้าง  ภายหลังจากการหาทางออกร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนผู้รับสัมปทานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ล่าสุดมีแผนส่งมอบพื้นที่ พร้อมกันทั้งสองโครงการ ให้เดินหน้าก่อสร้างภายในเดือนตุลาคม นี้ 

 

 

ประเมินว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้เข้าพื้นที่หลังจาก ที่ผ่านมานาย คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รายงานความคืบหน้าต่อ คณะกรรมการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อไม่นานมานี้ ถึงความก้าวหน้า 2 โครงการแรก(โครงการระยะที่1) คือ

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีกำหนดที่จะออกหนังสือส่งมอบที่ดินให้กับเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการ (NTP) เพื่อเริ่มก่อสร้างในเดือน ตุลาคม2565และการปรับปรุงรายงานเพื่อนำเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เดือนกันยายน 2565

 

โดยการก่อสร้างโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 รวมถึง โครงการศูนย์ธุรกิจและเมืองและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ 14,619 ไร่ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่ต้องขับเคลื่อนระยะยาว

‘ไฮสปีด-เมืองการบิน’เดินหน้า เพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงลงทุน

 

ไฮสปีดจบ! ลุยแก้สัญญา

              

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขสัญญาร่วมแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน ของคณะกรรมการ 3 ฝ่าย

 

 

ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี ผู้รับสัมปทาน ที่ผ่านมาการเจรจาแก้ไขสัญญาโครงการฯ ระหว่างรฟท.และเอกชนได้ข้อยุติแล้วรวมถึงการชำระค่าโฮนสิทธิ์บริหารโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ไม่เกิน7งวด

              

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดโครงการฯ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ขออนุมัติหลักการแก้ไขปัญหาของโครงการฯ หากผ่านความเห็นชอบจะเข้าสู่การแก้ไขสัญญาดังกล่าว

 

 

หลังจากนั้นจะเสนอร่างแก้ไขสัญญาฯต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ รวมทั้งเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป คาดว่าจะลงนามแก้ไขสัญญาภายในเดือนตุลาคม 2565 เพื่อเร่งรัดให้เอกชนเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างโครงการฯ

              

เร่งสร้างใช้เวลา 3 ปี

              

 

อย่างไรก็ตามสกพอ.ได้พยายามเร่งรัดการก่อสร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินและโครงการสนามบินอู่ตะเภาให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี  หลังจากนั้นจะดำเนินการติดตั้งระบบและทดสอบความปลอดภัยของรถไฟความเร็วสูง เพื่อเปิดให้บริการได้พร้อมๆ กัน เนื่องจากโครงการฯ มีการเคลียร์พื้นที่แล้ว

             

  ขณะเดียวกันหลังจากลงนามแก้ไขสัญญาโครงการฯแล้วเสร็จ จะดำเนินการให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ก่อน เนื่องจากช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ต้องเร่งรัดการก่อสร้าง

 

เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนดำเนินการติดตั้งระบบและทางวิ่งรถไฟในโครงการไฮสปีดไทย-จีน ภายใน 3 ปี ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ โดยให้เอกชนคู่สัญญาโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด

 

 

ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 3 ปี โครงการไฮสปีดไทย-จีน สามารถนำรางเหล็กรถไฟมาวางเพื่อติดตั้งระบบได้ จากเดิมที่จะต้องก่อสร้างบริเวณคานและเสาตอม่อเพื่อส่งมอบให้โครงการไฮสปีดไทย-จีน มาดำเนินการ

              

 

รายงานข่าวจาก สกพอ. กล่าวต่อว่า ด้านความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกในพื้นที่อีอีซี ที่ผ่านมาได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเสร็จ

 

 

ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เรียบร้อยแล้วจะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป หลังจากนั้นกองทัพเรือในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการฯจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีนี้  

 

ให้สิทธิ์ประโยชน์เมืองการบิน

              

 

รายงานข่าวจาก สกพอ. กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าเมืองการบินภาคตะวันออก ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมืองการบินภาคตะวันออก (อีอีซีเอ) กำหนดให้เป็นเมืองการบิน (airport city) จำนวน 1,032 ไร่ อยู่ในเขตอีอีซีเอ ซึ่งเป็นเขตประกอบการเสรีนั้น หลังจากนี้จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 

เช่น กระทรวงมหาดไทย,กรมสรรพากร,กรมสรรพสามิต ฯลฯ เพื่อดำเนินการปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆให้มีผลทางกฎหมายตามมติครม.เห็นชอบ  คาดว่าจะออกระเบียบดังกล่าวแล้วเสร็จไม่เกินในปี 2565

              

เจาะลึกเกณฑ์ปรับปรุงสิทธิประโยชน์

 

สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และกำหนดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นและเหมาะสมของมาตรการสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ : เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ที่ ครม.เห็นชอบในวันนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1.กลุ่มผู้ประกอบกิจการในพื้นที่เมืองการบิน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ

 

 

(1)การดำเนินกิจกรรมสันทนาการตลอด 24 ชั่วโมง (2) การจำหน่ายแอลกอฮอล์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง (3) ตั้งด่านนำเข้าและส่งออกสุราและยาสูบ (4)กำหนดเขตปลอดอากรและจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน (5)การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุดไม่เกิน 15 ปี และยกเว้นให้ไม่ต้องนำเงินปันผลจากการประกอบกิจการไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

              

 

2.กลุ่มคนทำงาน รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ (1)การผ่อนปรนข้อจำกัดด้านกฎหมายแรงงาน โดยให้คนต่างด้าวสามารถทำงานบางประเภทได้ (2)ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อยู่ระหว่างการหารือ คือ การปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

              

3.กลุ่มคนเดินทางและนักท่องเที่ยว รูปแบบสิทธิประโยชน์ที่สามารถดำเนินการได้ คือ การยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในพื้นที่เมืองการบินในช่วง 10 ปีแรก ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ยังอยู่ระหว่างการหารือ ได้แก่ (1)การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าในพื้นที่ EECa Free Trade Zone รวมไม่เกิน 20,000 บาท/คน/ปี เฉพาะช่วง 10 ปีแรก

 

 

และ (2)ขยายการยกเว้นภาษีอากรและภาษีสรรพสามิตสำหรับของติดตัวผู้เดินทางระหว่างประเทศขาเข้าให้ครอบคลุมสินค้าที่ซื้อในพื้นที่ EECa Free Trade Zone รวมไม่เกิน 200,000 บาท/คน/ปี เฉพาะช่วง 10 ปีแรก