ปลดล็อกปม “ที่ดินมักกะสัน” ขยับออก NTP ตอกเข็มไฮสปีดฯต้นปี2566

22 มิ.ย. 2565 | 09:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2565 | 16:46 น.
1.1 k

ปลดล็อกปมที่ดิน"มักกะสัน" ไฮสปีด3สนามบินเริ่มเห็นแสงสว่าง กฤษฎีกา-อัยการสูงสุดชี้เปรี้ยง ลำรางไม่อยู่ในเงื่อนไขส่งมอบพื้นที่ เอกชนเข้าพื้นที่ได้ก่อน พร้อมให้สกพอ.-มหาดไทยร่วมมือออกประกาศพ้นสภาพลำรางก่อนเดินตามขั้นตอนกฎหมาย รฟท.ออกหนังสือ NTPต้นปี66

 

 

 

 

 

 

 

 

โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน มูลค่า2.24 แสนล้านบาทระยะทาง220กิโลเมตร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ที่มีบริษัทเอเชีย เอราวันจำกัดเครือซีพีเป็นคู่สัญญาเริ่มเห็นแสงสว่าง

 

เมื่อปมลำรางสาธารณะบนที่ดินมักกะสันหนึ่งในชนวนเอกชนคู่สัญญาไม่ยินยอมรับมอบพื้นที่ไฮสปีดฯได้เริ่มคลี่คลายลงและอาจนำไปสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลงหรือ MOU แก้ไขสัญญาสัมปทานร่วมลงทุนฯทั้งระบบหลังขยายเวลา  ลงนาม MOU มาแล้วหลายรอบ ล่าสุดจะครบกำหนดวันที่24 กรกฎาคม 2565 

 

ตามข้อตกลงคณะกรรมกรรมการ3ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยรฟท.คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี ผู้รับสัมปทานเพื่อหาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับปมลำรางสาธารณะที่เอกชนพบปรากฎอยู่บนโฉนดที่ดิน โครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์มักกะสัน

 

 

 

 

ทั้งนี้รฟท.ได้มีหนังสือหารือไปยังกฤษีกาและอัยการสูงสุดเพื่อวิฉิจฉัยว่า1.กรณีหลักฐานลำรางสาธารณะที่ปรากฎอยู่บนที่ดินมักกะสันถือเป็น หนึ่งในเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่หรือไม่

 

2.เอกชนคู่สัญญาสามารถรับมอบพื้นที่เข้าดำเนินโครงการก่อนการถอนสภาพลำรางสาธารณะได้หรือไม่ 3.ลำรางเสื่อมสภาพไม่มีประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ร่วมกันและมีหลักฐานรฟท.ใช้งานเป็นที่ตั้งของพวงรางเดินขบวนรถ ยังถือเป็นลำรางสาธารณะหรือไม่

 

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากรฟท.ระบุว่า คำตอบที่ ออกมาคือ ปมลำรางสาธารณะไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขการส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเทรน ของรฟท. ที่สำคัญกฤษฎีกาและอัยการสูงสุดยังเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และกระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแลกรุงเทพมหานคร(กทม.)

 

 

ทำงานร่วมกัน และให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศยกเลิกลำรางสาธารณะที่ปรากฎหลักฐานว่าเสื่อมสภาพไม่เคยมีประชาชนใช้ประโยชน์บนที่ดินมักกะสันซึ่งตั้งอยู่ในเขตปกครองของกทม.เป็นกรณีเร่งด่วน

 

เพื่อให้เอกชนคู่สัญญาสามารถเข้าพื้นที่ได้ก่อนตามกำหนดสัญญาและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการถอนสภาพลำลางสาธารณะเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เป็นที่ดินตามกฎหมายต่อไป

ปลดล็อกปม “ที่ดินมักกะสัน” ขยับออก NTP ตอกเข็มไฮสปีดฯต้นปี2566

รฟท.ยืนยันว่า ตามข้อเท็จจริงลำรางที่ปรากฏอยู่บนโฉนดที่ดิน มักกะสัน ทางรฟท.ไม่เคยทราบมาก่อน เพราะที่ผ่านมา ได้ใช้งานเพื่อกิจการของรัฐ ตั้งเป็นพวงรางเดินขบวนรถ ทับลงบนลำรางมาอย่างยาวนาน

 

โดยลำรางดังกล่าว เป็นจุดเชื่อมต่อมาจากบึงเสือดำแก้มลิงป้องกันน้ำท่วมของกทม. ขณะบึงเสือดำไม่น่ามีปัญหาเพราะรฟท.ประสานกับกทม.ย้ายบึงไปยังที่ดินมักกะสันแปลงอื่นเรียบร้อยแล้ว

 

 

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการ 3 ฝ่ายฯ ได้ประชุมปมที่ดินมักกะสันและข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งการเจรจาถือว่าใกล้ได้ข้อยุติ หลังจากนี้รฟท.จะมีหนังสือไปยังเอกชนคู่สัญญาเพื่อขอคำตอบเสนอคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(บอร์ดรฟท.)

 

เห็นชอบแก้ไขร่างสัญญาร่วมทุนฯ คาดว่าจะเสนอในวาระการประชุมได้ภายในเดือน กรกฎาคม 2565 ต่อจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

 

 

ที่ผ่านมารฟท.ได้มีการขยายMOU กับบริษัท เอเชีย เอรา วัน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิดมีกรอบเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ 24  ตุลาคม 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการขยายออกไป 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน โดยล่าสุดจะครบกำหนดวันที่ 24 กรกฎาคม2565

 

 

ในส่วนการเจรจาของคณะทำงาน 3 ฝ่ายฯ จะสามารถสรุปได้ภายในเวลา 24กรกฎาคม 2565 แต่เนื่องจากมีที่นำเสนอ กพอ.และ ครม.พิจารณา ดังนั้น คาดว่าอาจต้องมีการขยาย MOU ออกไปจาก วันที่ 24กรกฎาคม 2565 อีกระยะหนึ่งเพื่อให้ครอบคลุมกระบวนการพิจารณาทั้งหมด โดยประเมินว่า  ครม.จะอนุมัติร่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯราวเดือน สิงหาคม-กันยายน  2565

 

 

 

จากนั้นจะมีการลงนามแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่งในระหว่างนี้จะเร่งดำเนินการเรื่องการรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ซึ่งเอกชนได้ยื่นเรื่องไปก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยการได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้กำหนดอยู่ในเงื่อนไขก่อนที่จะเริ่มงาน

 

 

โดยรฟท.สามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ภายในเดือน มกราคม2566 เพื่อเผื่อเวลาขั้นตอนบีโอไอให้เรียบร้อยก่อน พร้อมกันนี้ รฟท.ได้ขอให้เอกชนเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างร่วมในพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองเป็นลำดับแรก 

 

 

 

 

การเจรจาระหว่างรฟท.กับบริษัทเอเชีย เอรา วัน ที่ได้ข้อยุติไปก่อนหน้านี้ได้แก่

1.เอกชนยอมรับในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมฯ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และรับผิดชอบค่าก่อสร้างเพิ่มจำนวน  9,207 ล้านบาท

2.รฟท.ปรับเงื่อนไขการชำระคืนค่าก่อสร้างเร็วขึ้นเริ่มชำระคืนเป็นเดือนที่ 21

3.การออก หนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP )ได้ขยับออกไปเป็นเดือน มกราคม 2566 จากเดิม ภายในเดือนพฤษภาคม2565

 

ทั้งนี้ เท่ากับ รฟท.จะเริ่มชำระคืนค่าก่อสร้างในเดือน ตุลาคม 2567 ส่วนการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671.090 ล้านบาท จากผลกระทบจากโควิดเป็นสาเหตุให้ผู้โดยสารลดลงว่าจะแบ่งชำระค่าสิทธิร่วมลงทุน จำนวน 10,671.090 ล้านบาท เป็น 7 ปี

 

โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย โดยหากโควิดยุติก่อนเวลา 7 ปี ตามประกาศรัฐบาล จะประเมินจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ปีหลังจากนั้นแล้วจึงพิจารณาการชำระเงินที่เหลือ 

 

 

ทั้งนี้ในกรณี  บริษัทเอเชีย เอรา วัน นำเช็คเงินสดจำนวน 1,067.11 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10%  ของค่าสิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้แก่ รฟท. ไปก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นหลักประกัน ซึ่ง  MOU มีเงื่อนไขว่า เอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด

 

รวมทั้งรับผิดชอบความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน เพื่อทำให้การเดินรถไฟและซ่อมบำรุงรักษาระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์เป็นไปตามมาตรฐาน  KPI อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2564 ที่มีการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ รฟท.ยังรับภาระบริหารเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์

 

แต่ในทางกลับกันพบว่ายังมีผลขาดทุนเดือนละหลายสิบล้านบาท ซึ่งตามเงื่อนไข MOU จะหักจากหลักประกันที่เอกชนจ่ายไว้ โดยเมื่อลงนามแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ แล้ว เอกชนจะต้องเริ่มชำระค่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์งวดแรก จำนวน 1,067.11 ล้านบาท ทั้งนี้ในกรณีวงเงินที่เคยวางไว้ ไม่เพียงพอ เอกชนต้องจัดหาเพิ่ม