รฟท.เปิดแผนส่งมอบที่ดิน สร้างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

19 พ.ค. 2565 | 14:19 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2565 | 01:23 น.

รฟท.เผยแผนส่งมอบพื้นที่ “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” ติดหล่มเวนคืน เหตุชาวบ้านไม่ยอมรับค่าทดแทน-ยื่นเอกสารสิทธิ์ เร่งเจรจาต่อเนื่อง ตั้งเป้าปิดดีล 24 ก.ค.นี้

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เข้ารื้อถอนย้ายอาคารและสิ่งปลูกสร้างในแนวโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บริเวณแนวเส้นทางรถไฟโรงเรียนบ้านเขาชีจรรย์ หมู่ 11 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจ เจรจาไปแล้วหลายครั้ง ถึงความจำเป็นต้องเร่งส่งพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการตามสัญญา โดยจ่ายค่าทดแทนให้ชาวบ้านทั้ง 2 รายไปแล้ว 

 

 

ทั้งนี้ชาวบ้านทั้ง 2 รายจะต้องยื่นเอกสารแสดงสิทธิ์การเช่าที่ดินกับกรมชลประทานก่อน แต่ผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถแสดงสิทธิ์ได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนค่าทดแทนตามระเบียบที่กฎหมายกำหนด โดยระบุให้ผู้เสียหายได้รับค่าทดแทนส่วนหนึ่ง แต่ทั้ง 2 ราย ยังไม่ยินยอม การรถไฟฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อเจรจาต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด หลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม
 

นายสมยุทธิ์  เรือนงาม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาผู้บุกรุกในเขตก่อสร้างโครงการ ได้แก้ปัญหาแล้วเสร็จไปแล้วเกือบ 100% คงเหลืออีก 2 ราย ในพื้นที่ของกรมชลประทานที่การรถไฟขอใช้พื้นที่ในเขตทางโครงการเท่านั้น และยืนยันว่าได้มีการทำความเข้าใจกับผู้บุกรุกมาตลอดโดยหลังการแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกเสร็จ การรถไฟฯมีแผนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ผู้ได้รับสัมปทานโครงกรรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565

 


     
ทั้งนี้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา มีระยะทาง 220 กิโลเมตร 9 สถานี มูลค่าโครงการ 224,500 ล้านบาท ช่วยสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก่อให้เกิดการลงทุน การท่องเที่ยว ก่อประเทศต่อเศรษฐกิจโดยสารของประเทศในอนาคต
 

นอกจากนี้ด้านความก้าวหน้า การรื้อย้ายสาธารณูปโภค ในช่วงเดือน เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคลงพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 357 จุด (609 งาน) จากทั้งหมด 400 จุด (668 งาน) โดยมีสาธารณูปโภคที่ดำเนินการ รื้อย้ายหลังส่งมอบระหว่างการก่อสร้างโครงการฯ จำนวนทั้งหมด 135 งาน ได้ดำเนินการแล้ว 76 งาน คงเหลืองานรื้อย้าย 59 งาน ซึ่งการรื้อย้ายสาธารณูปโภคงานสุดท้ายจะรื้อย้ายแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 65 ส่วนงานรื้อย้ายสาธารณูปโภค ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ลงพื้นที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 18 จุด (18 งาน) จากทั้งหมด 68 จุด (67 งาน)