“คมนาคม” สั่งรฟท.เคลียร์ปัญหาที่ดินไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-พื้นที่กม.11

04 เม.ย. 2565 | 18:04 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2565 | 01:11 น.

“คมนาคม” เร่งรฟท.แก้ปัญหาที่ดินไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-พื้นที่กม.11 หลังพบชาวบ้านได้รับผลกระทบโครงการฯ กว่า 630 ครัวเรือน ฟากการเคหะฯ เล็งออกแบบที่อยู่อาศัย เปิดให้เช่าเริ่ม 3,000 บาทต่อเดือน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในรูปแบบการก่อสร้างอาคารแนวสูงให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยในราคาสำหรับผู้มีรายได้น้อย จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พื้นที่รองรับบริเวณริมบึงมักกะสัน ประมาณ 7 ไร่ 2 งาน มีผู้ประสงค์เข้าร่วมฯ 5 ชุมชน 271 ครัวเรือน และโครงการพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธิน เขตบางซื่อ และย่าน กม.11 เขตจตุจักร พื้นที่รองรับบริเวณนิคมรถไฟ กม.11 (ริมถนนกำแพงเพชร 2) ประมาณ 6 ไร่ 2 งาน มีผู้ประสงค์เข้าร่วมฯ 3 ชุมชน 296 ครัวเรือน ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ออกแบบอาคารที่อยู่อาศัย 8 ชั้น จำนวน 3 อาคาร พื้นที่ห้องพักขนาด 28.5 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 3,000 บาท/เดือน และห้องพักขนาด 34.6 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 4,000 บาท/เดือน รองรับชุมชนในแต่ละพื้นที่ จำนวน 315 ครัวเรือน รวมทั้งสิ้น 630 ครัวเรือน 

 

 

 

ทั้งนี้ได้มอบให้ รฟท. ประสานงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยบริเวณริมบึงมักกะสัน จะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือไม่ โดย กคช. จะดำเนินการสำรวจความต้องการของประชาชนอีกครั้ง เพื่อให้รูปแบบของการพัฒนา รวมทั้งอัตราค่าเช่ามีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด
 

“คมนาคม” สั่งรฟท.เคลียร์ปัญหาที่ดินไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน-พื้นที่กม.11

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯ และเห็นชอบให้ดำเนินงานตามแผนงานที่เสนอ จำนวน 20 เรื่อง แบ่งเป็น รฟท. 16 เรื่อง และ ทล. 4 เรื่อง อาทิ กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงชุมทางตลิ่งชัน - ศิริราช กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง นครราชสีมา - หนองคาย กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงสุราษฎร์ธานี - หาดใหญ่ - สงขลา กรณีการแก้ไขปัญหาพื้นที่เช่าชุมชนหนองยวน จ.ตรัง กรณีการคิดอัตราค่าเช่าใหม่ให้เป็นไปตามอัตราค่าเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยของชุมชนพระราม 6 เขตบางซื่อ กรณีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างทางด่วนยกระดับพระราม 2 - วังมะนาว ต.ท่าจีน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กรณีที่ดินทางหลวงทับที่ดินทำกิน หมู่ที่ 8 บ้านดอนโป่ง ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร กรณีโครงการก่อสร้างสะพานรถยนต์ โครงการระบายน้ำแม่น้ำตรัง ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง กรณีโครงการก่อสร้างสำนักงานแขวงการทาง ชุมชนสะพานร่วมใจ เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เป็นต้น 

 

 


“ ได้มอบนโยบายให้คณะอนุกรรมการฯ ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนและบรรเทาผลกระทบของประชาชน โดยให้ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด”