รฟท.เร่งหาทางออกแก้กฎหมาย สางปัญหาที่ดินมักกะสัน ลุยไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

20 เม.ย. 2565 | 19:44 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2565 | 02:50 น.
583

รฟท.เล็งหารืออัยการสูงสุด แก้กฎหมาย เหตุซีพีจี้เพิกถอนลำรางสาธารณะ-ที่ดินมักกะสัน กระทบแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เมินส่งมอบพื้นที่ พ.ค.นี้ หวั่นกระทบก่อสร้าง-แผนเปิดให้บริการปี 70

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ได้มีการหารือร่วมกัน 3 ฝ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ระหว่าง รฟท. คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  เบื้องต้นจากการหารือถึงแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าว ที่ผ่านมาพบปัญหาบริเวณบึงเสือดำและลำรางสาธารณะในพื้นที่ที่จะต้องพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) มักกะสัน  ขณะเดียวกันรฟท.เตรียมออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ภายในเดือน พ.ค.นี้ แต่เมื่อตรวจสอบพบว่าพื้นที่ที่เอกชนจะพัฒนาเป็น TOD มีพื้นที่เป็นลำรางสาธารณะอยู่ หากเอกชนนำพื้นที่ส่วนนี้ไปพัฒนาเชิงพาณิชย์อนาคตอาจติดปัญหาทางกฎหมายได้ ทางเอกชนจึงต้องการให้รฟท.แก้ปัญหาส่วนนี้ให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะออก NTP เริ่มงานก่อสร้าง

 


ทั้งนี้จากการหารือร่วม 3 ฝ่ายนั้น ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า หากจะดำเนินการเพิกถอนลำรางสาธารณะตามกระบวนการต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปี ถ้ารอการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ จะกระทบต่อการออก NTP เพื่อเริ่มงานก่อสร้างล่าช้าออกไปมากกว่า 1 ปี และกระทบแผนเปิดให้บริการที่กำหนดไว้ในปี 2570 เป็นผลกระทบต่อประชาชนและประเทศอย่างมาก ที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย จึงมอบหมายให้ รฟท.ไปหารือสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อแก้ไขข้อกำหนดทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการพัฒนา TOD ได้เร็วกว่าการเพิกถอนลำรางสาธารณะ
 

“รฟท.ยืนยันว่าการออก NTP เริ่มงานก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินนั้นมีความพร้อมอย่างมาก ติดปัญหาเพียงพื้นที่ลำรางสาธารณะซึ่งถือเป็นพื้นที่ส่วนเล็กน้อย 1% ของพื้นที่ก่อสร้างโครงการทั้งหมด ขณะที่เอกชนยืนยันว่าหากไม่มีการแก้ไขปัญหาส่วนนี้ให้แล้วเสร็จ อาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหา ทำให้แผนส่งมอบพื้นที่จะล่าช้ากว่าแผนออกไปเล็กน้อยราว 2-3 เดือน เราก็เข้าใจดีกว่าโครงการฯทั้งแนวเส้นทางและ TOD เป็นส่วนที่สอดคล้องกัน เพราะการพัฒนาโครงการจะเกื้อหนุนกัน ดังนั้นก็จำเป็นต้องออก NTP พร้อมกัน แต่พื้นที่ที่ติดปัญหานี้เป็นลำรางสาธารณะที่มีมานานมากแล้ว ปัจจุบันก็ไม่ได้มีการใช้งาน แทบไม่เห็นแล้วว่ายังมีพื้นที่ลำรางสาธารณะอยู่ แต่รายละเอียดตามโฉนดยังพบว่ามีลำรางเท่านั้น”

 


รายงานข่าว กล่าวต่อว่า  ส่วนการเจรจาส่งมอบพื้นที่ หากท้ายที่สุดไม่สามารถแก้ไขปัญหาลำรางสาธารณะได้ หรือทางเอกชนไม่ตอบรับการส่งมอบพื้นที่ ก็ยอมรับว่าเคยมีการเจรจาถึงเงื่อนไขที่จะกลับไปสู่การใช้สัญญาร่วมลงทุนฉบับเดิม ที่ระบุว่า รฟท.จะต้องลงทุนสร้างพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟไทย - จีน ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง และทางบริษัท เอเชีย เอราวัณ จำกัด จะต้องชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังมั่นใจว่าการหารือยังมีทางออกที่ทุกฝ่ายจะเห็นพร้อมกัน
 

“ที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย ตอนนี้ก็เห็นพร้อมกันว่าทางเอกชนอาจได้รับผลกระทบจากลำรางสาธารณะ หากไม่มีการแก้ไขข้อกฎหมายให้ถูกต้อง เพราะจากข้อมูลที่ได้รับจากทางภาคเอกชนทราบว่าในขณะนี้ได้มีการนำโครงการ TOD ไปเสนอสถาบันทางการเงินเพื่อจัดหาแหล่งเงินกู้ แต่สถาบันทางการเงินก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เนื่องจากโฉนดโครงการมีลำรางสาธารณะปรากฏอยู่ เราเชื่อว่าการหารือไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด จะได้แนวทางออกถึงการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเลือกใช้วิธีเพิกถอนลำรางสาธารณะที่ต้องใช้เวลาดำเนินการค่อนข้างนาน เบื้องต้นที่ประชุมประเมินว่าอาจมีแนวทางที่ดำเนินการได้ เช่น พื้นที่แปลงมักกะสันนี้ รฟท.ถือครองมาเป็นเวลานาน และได้พัฒนามาหลายโครงการ ดังนั้นอาจจะขออนุญาตถือครองที่ดินนี้ต่อเพื่อพัฒนาโครงการอื่นๆ ตามระยะเวลากำหนด เป็นต้น”