ปิดดีล รื้อสัญญาไฮสปีด เร่งซีพี ลุยตอกเข็ม พ.ค.2565                

17 มี.ค. 2565 | 04:04 น.
1.6 k

รฟท.-ซีพี ปิดดีล รื้อสัญญาสัมปทาน ไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน ชง “กพอ.-ครม.”ไฟเขียว ลงนาม พ.ค.2565 พร้อมให้เอกชนตอกเข็ม-ลดผลตอบแทน เหลือ 5.24% รัฐชำระเงินร่วมลงทุน 1.3 แสนล้านแบ่ง 7 งวด แอร์พอร์ตลิงก์ขยายเวลารัฐได้ดอกเบี้ย

 

บริษัท เอเชียเอรา วัน จำกัด เครือซีพี คู่สัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยอมรับเงื่อนไขรฟท.และนำไปสู่การแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรนหลังจากที่ผ่านมาได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน

 

 

โดยมีกรอบเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564 และขยายเวลาการเจรจาออกไปถึงวันที่24 เมษายน 2565 คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบแก้ไขสัญญา ภายในเดือนพฤษภาคม 2565

 

 

เริ่มจากปมปัญหาแอร์พอร์ตลิงก์ เอกชนคู่สัญญาได้รับผลกระทบโควิดและไม่สามารถชำระค่าโอนสิทธิ์ร่วมลงทุนวงเงิน 10,671 ล้านบาทได้ แต่ขอชำระ 10% ตามบันทึกข้อตกลงหรือ MOU ส่วนที่เหลือ จะจ่าย-จบทั้งหมดหากโควิดหมดลง โดยยึดประกาศ ศูนย์ บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นเกณฑ์

 

อย่างไรก็ตาม รฟท.วางแผนร่วมกับเอกชนคู่สัญญาว่า เมื่อมีปัญหาทั้งสองฝ่ายต้องแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้โครงการเดินต่อได้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

 

 

ขณะการ ชำระเงินร่วมลงทุนรายงานข่าวจากรฟท. ระบุเบื้องต้นได้มีการหารือกับเอกชนโดยรฟท.เสนอแบ่งชำระ 7 ปี ปี ละเท่ากัน เริ่มตั้งแต่ปีที่ 3 และเอกชนคู่สัญญาต้องยอมลดผลตอบแทนลงจาก 5.52% เหลือ 5.24% ซึ่งรัฐจะชำระเงินร่วมลงทุน 133,475 ล้านบาท

 

 

แนวทางนี้รัฐจะประหยัดงบประมาณได้ 25,362 ล้านบาท จากการประหยัดเงินที่รัฐร่วมลงทุน 16,155 ล้านบาทและไม่ต้องชำระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 9,207 ล้านบาท โดยรัฐจะมีภาระในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีสูงสุด 19,071 ล้านบาท ระยะเวลารวม 7 ปี ซึ่งเอกชนยอมรับในเงื่อนไขนี้

               

 

“หลังจากมีการหารือกับเอกชน ขณะนี้ทางรฟท.ยื่นเสนอต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว หลังจากนั้นจะนำเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด กพอ.)และเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับทราบและลงนามแก้ไขสัญญาดังกล่าวต่อไป”

รายงานข่าวจากกพอ. กล่าวว่า จะเร่งรัดให้เอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้างช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 จากเดิม กุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าจะได้ข้อสรุปลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทานพฤษภาคมนี้ทั้งนี้ในเงื่อนไขการแก้สัญญาใหม่ต้องพิจารณาจากผลกระทบโควิดว่า ได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน โดยรัฐไม่เสียประโยชน์ โดยการขยายการผ่อนชำระค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงก์รัฐได้ดอกเบี้ย เอกชนได้รับส่วนต่างจากดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน

               

ส่วนการก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง พื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างร่วมกับไฮสปีดไทย-จีน เอกชนเป็นผู้รับภาระการก่อสร้าง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 9,207 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐต้องหาทางแก้ไขสัญญา โดยไม่ต้องชำระ

 

ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ปัจจุบันเอกชนเตรียมเข้าพื้นที่ โดยลงทุนก่อสร้างรวม 3,500 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงหล่อทางวิ่งคอนกรีตของรถไฟ จำนวน 3 แห่ง จำนวน 500 ไร่ ก่อสร้างถนนกว่า 100 กิโลเมตร (กม.) ก่อสร้างสะพาน 50 แห่ง คาดว่าจะดำเนินการส่งมอบพื้นที่ช่วงนี้ภายในต้นปีนี้โดยเร่งรัดก่อสร้าง เพื่อไม่ให้กระทบแผนก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ล่าช้า

               

รายงานข่าวจากพอ.กล่าวต่อว่า ด้านการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในการรื้อย้ายท่อน้ำมัน และจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2565

 

หลังจากนั้นจะดำเนินการเร่งรัดการรื้อย้ายท่อส่งน้ำมันโดยเร็ว ส่วนระบบสาธารณูปโภคได้ดำเนินการรื้อย้ายเสร็จแล้ว คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ภายในไตรมาส 1-ไตรมาส 2 ของปี 2566 จากเดิมที่กำหนดส่งมอบพื้นที่ภายในเดือนตุลาคม 2566