รฟท.บี้ ซีพี ขีดเส้นตาย มี.ค. เจรจา รื้อสัมปทาน ไฮสปีดอีอีซี

12 มี.ค. 2565 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มี.ค. 2565 | 15:46 น.
956

รฟท.ลุยถกซีพี รื้อสัญญาสัมปทานไฮสปีด 3 สนามบิน หรือไฮสปีดอีอีซี ขีดเส้นตายจบ มี.ค.เพื่อเตรียมเสนอครม. ยันขยายสัญญาโอนสิทธิ์ แอร์พอร์ตลิงก์ 24 เม.ย.65 จากเดิม 24 ต.ค.64 ขณะส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ติดหล่มรองบจ่ายค่าเวนคืน ฟากสกพอ.ยันแก้ไขสัญญาไม่ผิดกฎหมาย

 

การเจรจาแก้สัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดอีอีซี ระยะทาง 220 กิโลเมตรมูลค่า 2.24 แสนล้านบาทระหว่างบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพีกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คู่สัญญายังไม่สามารถหาจุดสมดุลที่ลงตัวได้ และได้ยืดเวลาแก้สัญญาออกไปเป็นช่วงเดือนเมษายน 2565 หลังกำหนดกรอบเจรจาให้ได้ข้อยุติภายใน 3 เดือน

 

นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 19 ตุลาคม 2564 สั่งเยียวยาผลกระทบโควิดขยายเวลาชำระค่าให้สิทธิ์ในส่วนโครงการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์วงเงิน 10,671 ล้านบาทและสามารถผ่อนชำระได้ตามข้อเสนอของเอกชนคู่สัญญา ที่เสนอผ่อนชำระ10งวดหรือ 10 ปี ขณะภาครัฐกำหนดให้เพียง 6 งวดหรือ 6 ปี

 

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่การแก้สัญญาโอนสิทธิ์แอร์พอร์ตลิงก์เท่านั้น ยังส่งสัญญาณ ลามไปถึงการแก้สัญญาสัมปทานทั้งโครงการเนื่องจาก การส่งมอบพื้นที่ ไม่ครบสมบูรณ์ 100% ชนวนให้เอกชนคู่สัญญาไม่ลงนามรับมอบพื้นที่ ในทางกลับกันในมุมภาครัฐยืนยันว่าไม่มีโครงการใดสามารถส่งมอบพื้นที่ได้ครบทั้ง 100%

 

โดยเฉพาะปัญหาใหญ่พื้นที่ทับซ้อนระหว่างรถไฟไทยจีน บริเวณสัญญาที่หนึ่ง “ดอนเมือง-บางซื่อ” กับไฮสปีดฯ3สนามบิน  ดังนั้นรฟท.จึงหาทางออกโดยมอบบริษัทเอเซียเอราวัน รับภาระ  แลกกับการแก้สัญญา รฟท.ชำระเงินระหว่างก่อสร้างตั้งแต่ปีที่ 3 เพื่อลดผลกระทบดอกเบี้ยให้กับเอกชนคู่สัญญา

 

  • เจรจาจบมี.ค.ขยายสัญญาไปเม.ย.

               

สำหรับความคืบหน้าโครงการไฮสปีดอีอีซี นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มซีพีผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้รับสัมปทานโครงการฯเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ เพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท

 

จากเดิมมีกำหนดชำระในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้รฟท.ได้ขยายระยะเวลาบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการเจรจาร่างแก้ไขสัญญาที่ รฟท. ทำร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ไปจนถึงวันที่ 24 เมษายน 2565

รฟท.บี้ ซีพี ขีดเส้นตาย มี.ค. เจรจา รื้อสัมปทาน ไฮสปีดอีอีซี

 

รฟท.บี้ ซีพี ขีดเส้นตาย มี.ค. เจรจา รื้อสัมปทาน ไฮสปีดอีอีซี

 

อย่างไรก็ตาม รฟท.จะดำเนินการการแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ไฮสปีด3สนามบินหรือไม่นั้น เบื้องต้น  ต้องฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดจากภาคเอกชน และพิจารณาว่าสิ่งที่เอกชนอ้างเหตุว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องจริงหรือไม่ และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของเอกชนอย่างไร

 

หากพบว่าได้รับผลกระทบจริงรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา หรือเยียวยาหรือไม่ ทั้งนี้ในการหารือนั้นทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และการเงิน จะเป็นผู้ช่วย รฟท. วิเคราะห์ปัญหาในกรณีดังกล่าว

               

ส่วนการขยายเวลาการเจรจาให้สิ้นสุดถึงเดือน เมษายน 2565 แต่ รฟท. กำหนดเป้าหมายไว้ว่าการเจรจาจะต้องได้ข้อยุติเรียบร้อยทุกเรื่องภายในปลายเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้เวลาที่เหลือนำไปสู่ขั้นตอนของการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา หากต้องมีการแก้ไขสัญญาฯ ต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป อย่างไรก็ตามการเจรจาครั้งนี้ หากท้ายที่สุดแล้วยังไม่ได้ข้อยุติตามกรอบเวลาที่วางไว้อีก ก็คงต้องบริหารตามสัญญาเดิม

 

  • ส่งมอบพื้นที่ติดหล่มรอเบิกจ่าย

               

ขณะที่ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 5,521 ไร่ รฟท. พร้อมส่งมอบกว่า 98% ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกกว่า 1% นั้น ปัจจุบันรฟท. ดำเนินการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ เพียงแต่รองบประมาณเบิกจ่ายให้กับประชาชนเท่านั้น

               

“ได้เจรจากับทางเอกชนแล้วว่า รฟท. มีเจตนาตั้งใจให้โครงการได้เกิดจริงๆ และเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2565”

 

อย่างไรก็ตามเรื่องการส่งมอบพื้นที่ ยังต้องหารือร่วมกับเอกชนให้เห็นตรงกันว่า ปัญหาของการส่งมอบบางพื้นที่โดยเฉพาะในส่วนของมักกะสัน เช่น บึงเสือดำ และลำลางสาธารณะ โดยในพื้นที่จริงไม่มีเพราะได้รับการแก้ไขแล้ว  แต่มีปรากฏอยู่ในแผนที่

 

หากจะให้ รฟท. ไปดำเนินการแก้ไขให้ตรงกับความเป็นจริง จะมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการมากมาย ดังนั้นในระหว่างรอที่จะทำให้ตรงกับความเป็นจริง จะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งกำลังหารือกับทางเอกชนอยู่ โดยเอกชนให้ความร่วมมือที่ดีที่จะเจรจาในเรื่องนี้

 

  • สกพอ.ลั่นแก้สัญญาไฮสปีดได้

               

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวต่อว่า กรณีที่รฟท.และเอกชนคู่สัญญาในโครงการไฮสปีดอีอีซีอยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขสัญญานั้น ทางสกพอ.เห็นว่าการแก้ไขสัญญาทั้ง 2 ฝ่ายในครั้งนี้สามารถดำเนินการได้ เพราะมีอายุสัญญาสัมปทานระยะยาว 50 ปี

 

เนื่องจากมีปัญหาด้านผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 และปัญหาพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่โครงการไฮสปีดไทย-จีน ของช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นก่อนที่มีการลงนามสัญญา ซึ่งมีเหตุผลที่ต้องดำเนินการแก้ไขสัญญาตามกฎหมายครบถ้วนเพื่อให้โครงการฯ สามารถเดินหน้าต่อได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขของโครงการฯ

 

เพื่อหาข้อยุติ หลังจากรฟท.เจรจาร่วมกับเอกชนได้ข้อยุติแล้ว จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการรฟท., คณะกรรมการกำกับรฟท.และเสนอต่อคณะกรรมการสกพอ.เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้ ก่อนสิ้นสุดตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ของทั้ง 2 ฝ่ายที่มีการขยายเวลาถึงวันที่ 24 เมษายน 2565

 

“ส่วนการแก้ไขสัญญาในครั้งนี้จะทำให้เกิดการได้เปรียบและการเสียเปรียบต่อเอกชนรายอื่นในด้านการแข่งขันโครงการอื่นๆฯของภาครัฐหรือไม่นั้น ทางสกพอ.มองว่าหากเอกชนมีความต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือหรือเยียวยาสามารถยื่นเรื่องให้รัฐพิจารณาดำเนินการได้ ซึ่งจะต้องดูเป็นกรณี ทั้งนี้โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในประเทศจะมีมาตรการช่วยเหลือเอกชนอยู่แล้ว ยกเว้นการชำระค่าปรับ,การยืดระยะเวลาการส่งงาน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัญหาแทบทุกโครงการฯ เชื่อว่าภาครัฐพร้อมที่จะช่วยเหลือเยียวยา”

 

ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยากับเอกชนหรือไม่นั้น ที่ผ่านมาพบว่าผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลดลงเหลือ 30,000 คนต่อวัน จากเดิมที่มีผู้ใช้บริการราว 80,000 คนต่อวัน รวมทั้งในปัจจุบันยังพบว่า

 

ปริมาณผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไม่สามารถกลับมาเทียบเท่ากับในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ทำให้สกพอ.มองว่าต้องเข้าไปช่วยเยียวยาผลกระทบดังกล่าวให้กับเอกชน ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนกับภาครัฐ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากภาครัฐมีมาตรการควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวด้วย

 

รายงานข่าวจากสกพอ.กล่าวต่อว่า ส่วนการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 10 กิโลเมตร (กม.) ที่ติดปัญหาทับซ้อนโครงสร้างโครงการไฮสปีดไทย-จีน นั้น

 

ปัจจุบันเอกชนเตรียมดำเนินการเข้าพื้นที่ โดยลงทุนก่อสร้างรวม 3,500 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงหล่อทางวิ่งคอนกรีตของรถไฟ จำนวน 3 แห่ง จำนวน 500 ไร่ ก่อสร้างถนนกว่า 100 กิโลเมตร (กม.) ก่อสร้างสะพาน 50 แห่งคาดว่าจะดำเนินการส่งมอบพื้นที่ช่วงนี้ภายในต้นปีนี้โดยเร่งรัดดำเนินการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้กระทบแผนการก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน ล่าช้า

 

ขณะเดียวกันการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์การแก้ปัญหาทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน  เนื่องจากที่ผ่านมาเอกชนมีการเสนอแผนการก่อสร้างตามมาตรฐานของยุโรป โดยระยะทางระหว่างช่วงบางซื่อ-พญาไท มีระยะทางที่สั้น กำหนดความเร็วของรถไฟอยู่ที่ 160 กิโลเมตร (กม.)ต่อชั่วโมง แต่ภาครัฐต้องการใช้แผนการก่อสร้างตามมาตรฐานจีน

 

โดยกำหนดความเร็วของรถไฟอยู่ที่ 250กิโลเมตร (กม.)ต่อชั่วโมง รวมทั้งเอกชนต้องเป็นผู้รับภาระสร้างทางวิ่งให้กับโครงการไฮสปีดไทย-จีน ด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้อยู่นอกเหนือสัญญาทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเอกชนต้องรับภาระทั้งหมด ทั้งนี้ทางเอกชนแจ้งว่าหากต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดคงไม่ไหว ทำให้ต้องดำเนินการปรับแก้เงื่อนไขในสัญญาเพื่อให้เอกชนประหยัดดอกเบี้ยและรับภาระทางการเงินที่ภาครัฐขอดำเนินการเพิ่มเติมแทน

 

รายงานข่าวจากสกพอ. กล่าวต่อว่า ด้านการส่งมอบพื้นที่ช่วงบางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 12 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในการรื้อย้ายท่อน้ำมัน และจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2565

 

หลังจากนั้นจะดำเนินการเร่งรัดการรื้อย้ายท่อส่งน้ำมันโดยเร็ว ส่วนระบบสาธารณูปโภคได้ดำเนินการรื้อย้ายเสร็จแล้ว คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ภายในไตรมาส 1-ไตรมาส 2 ของปี 2566 จากเดิมที่กำหนดส่งมอบพื้นที่ภายในเดือนตุลาคม 2566