พิษโควิดระลอก 3 ฉุดตลาดอสังหาฯ เข้าขั้นวิกฤติ ส่อซึมยาว 2-3 ปี

10 ก.ค. 2564 | 13:26 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2564 | 23:53 น.
761

ซีอีโอ เซ็นจูรี่ 21 เผยโควิดระบาดรุนแรง ระลอกที่ 3 กระทบ ตลาดอสังหาฯถึงขั้นวิกฤติ ขณะที่ซัพพลายยังเหลือล้น ชี้ภาคอสังหาฯต้องรับความจริง ปรับตัวลดความเสี่ยงลงทุน รับตลาดซึมยาวไม่น้อยกว่า 2-3 ปี

นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า โควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัว ประกอบกัยปัญหาหนี้ครัวเรือน ระดับสูง กำลังกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างน่าเป็นห่วง ว่าจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะ 1-2 ปี หรือ อาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานถึง 3 ปี หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว 

 

ทั้งนี้ ธปท.ได้ ปรับแนวโน้มจีดีพีไทยเหลือ 1.8% จากประมาณการเดิม 3% เช่นเดียวกัน แม้ว่าภาคส่งออกจะขยายตัวดีขึ้น แต่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มลดลง จากเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ยังถือว่าล่าช้ากว่าที่คาดหวังไว้

 

“แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วัน และเริ่มต้นโครงการนำร่อง Phuket Sandbox  แต่ยังไม่สามารถคาดหวังได้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา เพราะไทยอยู่ในบัญชีประเทศเสี่ยง ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ทั้งจากยุโรปและตะวันออกกลางยังไม่กล้าเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว”

พิษโควิดระลอก 3  ฉุดตลาดอสังหาฯ เข้าขั้นวิกฤติ ส่อซึมยาว 2-3 ปี

ขณะเดียวกัน ทางการจีนยังมี มาตรการห้ามไม่ให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และยังไม่ชัดเจนว่าจะผ่อนคลายเมื่อไหร่  เช่นเดียวกับยุโรปไม่มั่นใจสถานการณ์การติดเชื้อใน

 

นายกิติศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น  แม้ว่าหลายบริษัทจะประกาศตัวเลขยอดขายที่ดี แต่ยอดปฏิเสธสินเชื่อก็อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน ทำให้รายได้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ขณะเดียวกัน สินค้าคงเหลือที่ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัยพร้อมโอน และที่อยู่อาศัยระหว่างการก่อสร้าง ยังมีเหลืออยู่จำนวนมาก  ประกอบกับราคาที่ดินยังไม่ปรับตัวลดลง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถหาที่ดินเพื่อพัฒนาสินค้าที่สอดรับกับกำลังซื้อที่ลดลงได้ 
ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ แม้มีความต้องการซื้อเป็น Real Demand แต่ก็มีอยู่อย่างจำกัดจากผลกระทบโควิด ขณะตลาดที่แข่งขันรุนแรงขึ้น ยอดขายจึงอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ส่วนตลาดคอนโดมิเนียม รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะกำลังซื้อหลักๆ แทบไม่มีเหลือ และ ยังมีสินค้าเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก

“ต้องยอมรับความจริงกันว่าธุรกิจอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างแท้จริง แม้หลายบริษัท จะประกาศตัวเลขการขายที่ดี แต่ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะโอนเป็นรายได้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะธนาคารเข้ม ปล่อยกู้อย่างมาก แต่หากผู้ประกอบการ ลงทุนและดำเนินธุรกิจตามความเป็นจริงของตลาด เชื่อว่า ธุรกิจอสังหาฯ จะค่อยๆ ผ่านพ้นจากวิกฤติไปได้ แม้จะมีรายได้ที่ลดลง และต้องใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานขึ้นก็ตาม” 

 

นายกิติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย ธุรกิจอสังหาฯ เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่ดินค่าก่อสร้าง รวมถึงวัสดุก่อสร้างเหล็กและอื่นๆ ที่ปรับขึ้นราคา สิ่งเหล่านี้ยังพอที่จะแก้ปัญหาได้ แต่สิ่งที่ไม่สามารถแก้ได้เลยคือ Demand ที่น้อยลงหรือลดต่ำลงจนแทบจะไม่มีเลย รวมถึงโรคระบาดที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ได้ส่งผลให้มีการประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 30 วัน ทำให้การก่อสร้างล่าช้าและเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา  

 

หน้า 20 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,695 วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564