‘เดอะฟอเรสเทียส์’ บิ๊กเนมปักหมุด เขย่าบางนายกแผง

13 พ.ค. 2564 | 06:05 น.
2.5 k

“เดอะฟอเรสเทียส์” ยอดขายทะยานสูงกว่า  6 พันล้านบาท เรียกความคึกคักของทำเลทอง “บางนา” กระโดดทั้งแผง บิ๊กเนม อสังหาฯ ทยอยปักหมุดโครงการใหม่เพิ่ม ตั้งแต่คอนโดฯ ยันบ้านหรู จับตา บมจ.เพอร์เฟค ผุดโครงการทอล์กออฟเดอะทาวน์ ขายเริ่ม 50 ล้านแข่ง ขณะโซนเทพารักษ์ ฮอต แสนสิริ-เสนาฯ เขย่า, ศุภาลัย-ลลิล เดินหน้ากินรวบฝั่งตะวันออก

แม้จากรายงานของ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และเหล่าบริษัทที่ปรึกษาฯ ต่างชี้เปรี้ยงตรงกันว่า ตลอดทั้งปี 2564 ทิศทางตลาด “อสังหาริมทรัพย์ไทย” ภาพรวมยังคงอยู่ในช่วงขาลง และอาจชะลอตัวอย่างนี้ไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี อันเนื่องจาก สถานการณ์โควิด 19 ระลอกซ้ำ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม พบ “ตลาดที่อยู่อาศัย” ยังคงมีความเคลื่อนไหว จากกลุ่มเรียลดีมานด์ หรือผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ที่มีกำลังซื้อแข็งแกร่ง และจากกลุ่มนักลงทุนที่มีความพร้อม จับโอกาสทองต่อรองได้ โดยมักเลือกเจาะโครงการที่ตั้งอยู่ในทำเลมีศักยภาพ เช่น ทำเล White Ocean ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้า เดินทางได้สะดวก และทำเลที่มีความโดดเด่นชัดเจน เพื่อหวังรับโอกาสจากการเติบโตของมูลค่าที่ดินสูงในอนาคต

สะท้อนจากผลตอบรับของยอดขายในโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆใน อภิมหาโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสขนาดยักษ์ “เดอะ ฟอเรสเทียส์” โดยผู้พัฒนา บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC  มูลค่า 125,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 398 ไร่ ถนนบางนา-ตราด กม. 7  ซึ่งสร้างความฮือฮาสวนกระแสวิกฤติ แม้ยังไม่เปิดขายอย่างเป็นทางการ สามารถทำได้มากกว่า 6 พันล้านบาท ไม่นับรวมยอดเคลื่อนไหวล่าสุด หลังดีเดย์เปิดเข้าชม 11 ห้องตัวอย่างไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผ่าทำเลบางนา ประตูสู่ EEC

ความสำเร็จดังกล่าว ถูกกล่าวขาน ว่านอกจากความหลากหลายของโครงการ ที่ประกอบไปด้วยที่พักอาศัยหลายรูปแบบนำสมัย สอดคล้องกับผู้ซื้อทุกช่วงวัย ในราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 5 - 250 ล้านบาท แวดล้อมไปด้วยไลฟ์สไตล์ อาคารสำนักงาน สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ร้านค้าปลีก พื้นที่ Town Center อีเว้นต์ฮอลล์ และ ศูนย์สุขภาพ รวมถึงไฮไลท์ พื้นที่ป่าขนาดใหญ่ ครอบ คลุมทั้งโครงการ รวม 30 ไร่ แล้ว

จุดขายสำคัญ ยังมาจากทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์ ของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ดาวรุ่งเศรษฐกิจโซนใหม่ ซึ่งครอบคลุมเขตบางนาและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเปลี่ยนจากศูนย์กลางอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ไปสู่ย่านศูนย์การค้าและที่อยู่อาศัยชั้นนำอย่างน่าจับตา พบตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ย้ายอาคารสำนักงานเข้ามาในทำเลดังกล่าวมากขึ้น รั้งให้ราคาที่ดินปรับตัวเฉลี่ยราวปีละ 10% ขณะโซนวงแหวนกาญจนาภิเษก-เมกาบางนา พบราคาที่ดิน เฉลี่ยอยู่ที่ 50,000-100,000 บาทต่อตารางวา เป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุนด้านอสังหาฯให้เข้ามาในพื้นที่ โดยยังมีการเชื่อกันว่า ภายในปี 2573 ราคาอสังหาฯโซนบางนา จะเพิ่มขึ้น 50% อย่างแน่นอน

‘ฐานเศรษฐกิจ’ ตรวจสอบความเคลื่อนการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ ตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องปี 2564 พบผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบรนด์เนมหลายราย ทยอยเปิดตัว รับความคึกคักของทำเลอย่างหนาแน่น ทั้งโครงการบ้านและคอนโด มิเนียมโลว์ไรส์ โดยชูจุดขายเรื่องการเดินทาง และแวดล้อมด้วยเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ถึง 3 ที่ ทั้ง “เดอะ ฟอเรสเทียส์”, Mega บางนา, แผนพัฒนาโครงการ Bangkok Mall ของกลุ่มเดอะมอลล์

ขณะอนาคต ถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) นั้น จะมี รถไฟฟ้ารางเบา เชื่อมต่อจาก BTS  บางนา ลากผ่านทุกจุดความเจริญสองข้างทาง ยาวไปสุดสายที่ Terminal 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีสถานีศรีเอี่ยม (บริเวณจุดตัดระหว่างถนนเทพรัตนกับถนนศรีนครินทร์) จะเป็นจุดตัดกับ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สำโรง-รัชดา กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการคมนาคมขนส่งและการเชื่อมต่อที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

โดยบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เตรียมเปิดโครงการไฮไลท์ของปี ในช่วงไตรมาส 3 และคาดว่าจะเป็น “ทอล์ก ออฟเดอะทาวน์” ในวงการอสังหาฯ อีกหนึ่งโครงการในย่านดังกล่าว ผ่านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรต่างชาติ ฮ่องกงแลนด์ เพื่อพัฒนาโครงการ “Lake Legend บางนา-สุวรรณภูมิ” ในรูปแบบบ้านริมทะเลสาบขนาด 100 ไร่ มูลค่ามากถึง 5.1 พันล้านบาท ราคาขาย 50-100 ล้าน ซึ่งคาดจะได้รับการตอบรับดีของกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง

ด้านหลังโครงการ เดอะ ฟอเรสเทียส์ บริษัท อัลติจูด เข้ามาปักหมุด โครงการทาวน์โฮมพรีเมียม “อัลติจูด คราฟ บางนา” มูลค่า 1,469 ล้านบาท ซึ่งเปิดตัวเมื่อช่วงปลายปี 2563 ได้ประกาศปิดการขายเฟสแรก และยอดขายกว่า 400 ล้านบาท ได้สำเร็จแม้เป็นการขายผ่านออนไลน์เท่านั้น

ขณะกลุ่มทุนต่างชาติ สิงคโปร์ ที่ปูพรมล่วงหน้า เล็งความเจริญของอีอีซี อย่างกลุ่ม บริษัท ฟัลครัม เวนเจอร์ส จำกัด วางแผนผุดรวม 3 โครงการบ้าน กว่า 1,000 ยูนิต มูลค่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการบ้านเดี่ยว 7-15 ล้าน พานารา เทพารักษ์ ,พานารา ลาดกระบัง  และโครงการบ้านแฝดและทาวน์เฮาส์ อโณณา โดยผู้บริหารมองว่า โซนบางนา เปรียบเป็น Greater Bangna ได้รับความสนใจของผู้ซื้อหน้าใหม่มากขึ้น ขึ้นแท่นเป็นทำเลดาวรุ่งอสังหาฯที่ดีที่สุด

ด้านบมจ.ศุภาลัย เตรียมเปิดขายโครงการใหม่ล่าสุด “ศุภาลัย วิลล์ บางนา- ศรีนครินทร์” บนพื้นที่กว่า 25 ไร่ จำนวน 190 แปลง มูลค่าโครงการ 889 ล้านบาท ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ ต่อเนื่องจากก่อนหน้าส่ง บริษัทในเครือ พัฒนาโครงการ “ปาล์มวิลล์ เทพารักษ์” ปักธงทำเลบางนา-เทพารักษ์ อีก 1 โครงการ มูลค่า กว่า 700 ล้านบาท เพื่อเร่งเครื่องเจาะลูกค้าระดับกลางฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออก

เช่นเดียวกับ บมจ. แสนสิริ ประกาศความสำเร็จ จากการเปิดตัว สิริ เพลส บางนา -เทพารักษ์ ซึ่งเป็นพอร์ต ทาวน์โฮมซีรีย์ใหม่ ราคาเริ่ม 2.19 ล้านบาท ไปได้กว่า 150 ล้านบาท จากการเปิดจองในรอบ VIP ปิดการขายได้กว่า 80% ของเฟสแรก และยังมีแผนเปิดตัวโครงการคอนโด มิเนียมแบรนด์ใหม่ “The Muve” ในย่านบางนา อีก 1 โครงการ ราคาขายเริ่ม 1.29 ล้านบาท คาดจะได้รับการตอบรับการกลุ่มลูกค้ายุคโควิดอย่างมาก

พบใน ย่านเทพารักษ์ บมจ.เสนา เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ยังมีการแตกไลน์โปรดักต์ มาพัฒนาโครงการแนวราบร่วมกับพันธมิตรต่างชาติ เป็นโครงการแรก ภายใต้แบรนด์ เสนา เวล่า เทพารักษ์ -บางบ่อ มูลค่าโครงการ 900 ล้านบาทเช่นกัน

ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบย่านกรุงเทพฯตะวันออก ที่เรียลดีมานด์ตอบรับสูงจากความโดดเด่นของทำเล ยังทำให้ บมจ. ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ปักหมุด โครงการ “ลลิลทาวน์ 3 บางนา-สุวรรณภูมิ”  มูลค่า 1,600 ล้านบาท เป็นโครงการที่ 3 โดยนายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทเชื่อมั่นว่า โครงการอสังหาฯ เพื่อการอยู่อาศัย, โครงการค้าปลีกทั้งระดับกลางและระดับใหญ่, และโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย จะเป็นส่วนสำคัญ เสริมศักยภาพให้แก่ย่านดังกล่าว ให้เกิดความคุ้มค่าในแง่ของการลงทุน

ความสำเร็จในแง่ยอดขายของโครงการคอนโดมิเนียม นิว โนเบิล เซ็นเตอร์ บางนา ของผู้พัฒนา บมจ.โนเบิล มูลค่า 700 ล้านบาท ราคาเริ่ม 2.19 ล้านบาท ยังเป็นอีกเครื่องการันตี ถึงความสนใจของลูกค้าในย่านดังกล่าว หลังโครงการเปิดขายในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ยอดขายทะลุเกินเป้า และคาดว่าจะสามารถปิดการขายทั้งหมดได้ในไตรมาส 2 นี้

การที่บริษัทพัฒนาอสังหารฯหลายราย เข้ามาจับจองทำเลศักยภาพ ยกแผงโซนบางนา และดำเนินโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยกันอย่างจริงจัง นอกจากส่งผลให้ผู้ซื้อบ้านมีทางเลือกที่หลากหลายแล้ว ยังตอกย้ำถึงความน่าสนใจของโครงการขนาดใหญ่โดยรอบ ที่เปรียบเป็นแม่เหล็กสำคัญ  รวมถึงความสำเร็จของโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ECC) ที่ผลักดันให้ทำเล ‘บางนา’ กลายเป็นประตูสู่เขตเศรษฐกิจดาวรุ่งที่ละสายตาไม่ได้

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง