ราชเทวี-พญาไท แซนด์บ็อกซ์เขตส่งเสริมสุขภาพของประเทศ

03 พ.ค. 2564 | 16:41 น.

บทความ โดย :ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และเลขานุการกฎบัตรไทย "ราชเทวี-พญาไท แซนด์บ็อกซ์เขตส่งเสริมสุขภาพของประเทศ" ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และเลขานุการกฎบัตรไทย

 

กรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาเขตส่งเสริมสุขภาพ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล กฎบัตรไทย และองค์กรภาคีเครือข่าย มุ่งปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ราชเทวี-พญาไทให้เป็นแซนด์บ๊อกซ์เขตส่งเสริมสุขภาพที่ได้มาตรฐาน เป็นพื้นที่ต้นแบบของการลดปัจจัยการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) การลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน การลดจำนวนผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล การประกาศข้อกำหนดควบคุมพื้นที่อาหารปลอดภัย พร้อมการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูทางกายภาพย่านการเดินเข้มข้นจำนวนสองบริเวณ

จากการที่โครงการเขตเศรษฐกิจนวัตกรรมสุขภาพวิถีใหม่เพื่อพลิกฟื้นประเทศไทยหลังโควิด-19 ได้กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งในการพัฒนาเป็นเขตส่งเสริมสุขภาพของประเทศ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงนามคำสั่งที่ 603/2564  แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาเขตส่งเสริมสุขภาพกรุงเทพมหานคร คณะทำงานประกอบด้วย รองปลัดกรุงเทพมหานครที่สั่งราชการสำนักอนามัยเป็นประธาน

มีคณะทำงานจำนวน 51 คน ที่สำคัญอาทิ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ คณะกรรมการย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี คณะกรรมการกฎบัตรไทย และหัวหน้าส่วนราชการของกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลและปลัดกรุงเทพมหานครเป็นที่ปรึกษา

               

ราชเทวี-พญาไท  แซนด์บ็อกซ์เขตส่งเสริมสุขภาพของประเทศ

 

บทบาทของคณะทำงานชุดนี้ มุ่งไปยังการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนากลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยระบบส่งเสริมสุขภาพ โดยอาศัยความแข็งแกร่งด้านการแพทย์ การวิจัยและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศักยภาพของเครือข่ายระบบสาธารณสุขและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ พร้อมระบบส่งเสริมสุขภาพเป็นกลไกพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงานประเภทนวัตกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจชุมชน 

เขตส่งเสริมสุขภาพกรุงเทพมหานครระยะแรก จำแนกพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 3 บริเวณ โดยพื้นที่แรก เป็นบริเวณโดยรอบเขตราชเทวีและเขตพญาไทซึ่งได้รับอิทธิพลความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเดินทางที่กระทบต่อระบบการส่งเสริมสุขภาพ พื้นที่ที่สอง ได้แก่ พื้นที่เขตราชเทวีและเขตพญาไท เป็นพื้นที่ศึกษาข้อมูลภาพรวมในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ ประชากร สังคม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สุขภาพ พื้นที่ที่สาม เป็นแซนด์บ๊อกซ์นำร่อง จัดเป็นพื้นที่ไข่แดงเพื่อปฏิบัติการยกระดับเป็นเขตส่งเสริมสุขภาพ

แซนด์บ๊อกซ์เขตราชเทวี-พญาไท ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านการแพทย์และเศรษฐกิจสุขภาพ นับได้ว่าเป็นพื้นที่หนาแน่นด้านกิจกรรมการแพทย์สูงสุดของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 9.34 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือจดถนนประดิพัทธ์ ทิศตะวันออกจดถนนวิภาวดี ถนนดินแดงและถนนราชปรารภ ทิศตะวันตกจดถนนพระรามหก ส่วนทิศใต้จดถนนเพชรบุรี ชุมชนในเขตราชเทวี 12 ชุมชนและเขตพญาไท 16 ชุมชน ประชากรรวม 19,172 คน สถานพยาบาลและหน่วยบริการการแพทย์รวม 74 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาล 11 แห่ง ศูนย์การแพทย์ 6 แห่ง คลีนิค 38 แห่ง องค์กรการแพทย์ 9 แห่ง สถาบันศึกษาด้านการแพทย์ 2 แห่ง ศูนย์จำหน่ายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ 5 แห่ง และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ 3 แห่ง หน่วยบริการพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย โรงแรมที่พัก 96 แห่ง ร้านอาหารและค่าเฟ่ 711 แห่ง ที่อยู่อาศัย 63 แห่ง

ในพื้นที่ใจกลางของแซนด์บ๊อกซ์ยังเป็นที่ตั้งของคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์ ซึ่งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเรียกพื้นที่นี้ว่า “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” โดยได้วางแผนพัฒนาต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 5 ปี จากความหนาแน่นของกิจกรรมด้านสุขภาพ พื้นที่นี้จึงมีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นแซนด์บ๊อกซ์เขตส่งเสริมสุขภาพของประเทศ

                สำหรับเป้าหมายการยกระดับเป็นเขตส่งเสริมสุขภาพมาตรฐานนั้น กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยมหิดล และกฎบัตรไทย ได้กำหนดให้พื้นที่แซนด์บ๊อกซ์เป็นต้นแบบในการลดปัจจัยการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) หรือการลดประชากรผู้เข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล กลุ่มโรคเป้าหมายได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคอ้วนลงพุง และโรคมะเร็ง โดยใช้กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงและพฤติกรรมการกิน การกำหนดมาตรการด้านอาหารปลอดภัยด้วยการรณรงค์และการจัดทำข้อตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วน ได้แก่ ชุมชน ผู้ประกอบการพาณิชยกรรม ตลาดสด ร้านอาหาร โรงแรม และผู้อยู่อาศัย ซึ่งกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้ออกข้อกำหนดพื้นที่อาหารปลอดภัยและเขตส่งเสริมสุขภาพเป็นมาตรการสนับสนุน

                นอกจากนั้น ยังได้กำหนดค่าเป้าหมายการเพิ่มจำนวนกิจกรรมทางกายที่เป็นกิจวัตร ด้วยการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูทางเดินและสภาพแวดล้อมชุมชนส่งเสริมการเดิน การเพิ่มปริมาณต้นไม้ใหญ่และขนาดทรงพุ่ม การออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบการระบายน้ำ การจัดการมลภาวะ การจัดการพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว

                ในการปรับปรุงฟื้นฟูกายภาพนั้น ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 2 บริเวณ ได้แก่ การออกแบบถนนราชวิถีและถนนอารีย์ให้เป็นถนนสมบูรณ์ (Complete Streets) เป็นย่านการเดิน (Walkable Urban Places) โดยออกแบบพื้นที่เป็นทางลาดให้ทั้งบริเวณ เริ่มต้นจากทางเดินด้านหน้าอาคารและทางเดินถนนซอย พร้อมการออกแบบปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเดิน ทางจักรยาน ระบบขนส่งมวลชน และจุดจอดรถยนต์ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สอดคล้องกับความต้องการและกายภาพ ค่าเป้าหมายที่กำหนดได้แก่ การเพิ่มปริมาณการเดิน การลดอุบัติเหตุทางถนนและทางเท้าหรือการลดอัตราการบาดเจ็บล้มตาย มาตรการทั้งหมดที่นำมาใช้ในเขตส่งเสริมสุขภาพราชเทวี-พญาไท นอกจากจะพุ่งเป้าไปยังการยกระดับคุณภาพชีวิตและการลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนด้านการรักษาพยาบาลแล้ว โครงการยังคาดหวังผลกระทบด้านขีดความสามารถของเศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย รวมการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงอาหารคุณภาพหรือการได้รับสารอาหารที่เพียงพอ การเพิ่มขึ้นของการบริโภคผักและผลไม้ปลอดภัย การมีโอกาสการอยู่อาศัย การประกอบกิจกรรม และการนันทนาการในพื้นที่สภาพแวดล้อมที่ดี

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,673 วันที่ 25 - 28 เมษายน พ.ศ. 2564